อารัมมณาธิปติปัจจัย [๔]

 
พุทธรักษา
วันที่  23 พ.ย. 2552
หมายเลข  14316
อ่าน  1,828

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นอกจาก กุศลจิต และ โลกิยกุศลจิต แล้ว โลกุตตรกุศลจิต ก็เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่เฉพาะกุศลญาณสัมปยุตตจิต หรือว่า กิริยาจิตที่เป็นญาณสัมปยุตตจิต เท่านั้น จะไม่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิตเลย หมายความว่า ถ้าเป็นฝ่ายโลกุตตรธรรม ต้องเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลญาณสัมปยุตตจิต และเป็นกิริยาญาณสัมปยุตตจิต เท่านั้น

หลังจากที่บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ก็จะมีการพิจารณามรรคจิต ผลจิต นิพพาน กิเลสที่ดับ และกิเลสที่เหลือ ขณะนั้น เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ที่พิจารณาโลกุตตรจิต ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตที่พิจารณาโลกุตตรธรรม เพราะฉะนั้น ฝ่ายสูงสุดของอารัมมณธิปติ ก็ได้แก่ โลกุตตรธรรม ซึ่งจะไม่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิตเลย โลภมูลจิต ไม่มีทางที่จะมีโลกุตตรธรรมเป็นอารมณ์ แต่ว่า สำหรับกุศลอื่น ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล หรือว่า สมถภาวนา ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศลจิต หรือ อรูปาวจรกุศลจิต ก็ยังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตได้

สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้ทราบว่าอารมณ์ซึ่งไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าไม่ควรดูหมิ่น สิ่งใดก็ตามในวันหนึ่งๆ ที่ท่านผู้ฟังรู้สึกว่าท่านอยากจะได้ เช่น ขณะเดินไปตามถนน หรือตามที่ต่างๆ โลภะก็เกิดแล้ว แม้ว่าจะไม่รู้ตัว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่ใช่ว่าท่านจะปรารถนาไปทุกอารมณ์ที่ท่านเห็น แต่ว่าอารมณ์ใดก็ตาม ซึ่งเกิดปรารถนาอย่างหนักแน่น ไม่ทอดทิ้งและคิดว่าควรจะได้ ควรจะมี ในขณะนั้น อารมณ์นั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย (ของโลภมูลจิต)

สำหรับ กุศลทั้งหลาย เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลต่อไปอีกได้ อย่าลืมนะคะ กุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลต่อๆ ไปได้อีก กุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรกุศลได้ และยังเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตก็ได้

สำหรับโลภมูลจิต ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ เพราะเหตุว่า ลึกลงไปจริงๆ ทุกท่าน ยังปรารถนาโลภะอยู่ ยังชอบ ยังต้องการ ไม่ได้อยากให้หมดไปเร็วๆ นัก ใช่ไหม สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น สภาพธรรม คือ โลภมูลจิต เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ แล้วแต่ว่า ปรารถนาให้โลภมูลจิตประเภทใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สำหรับโลกิยวิบากจิตทั้งหมด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตได้

จะเห็นได้ว่า สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิต นอกจาก ขณะที่จิตเป็นโยนิโสมนสิการ กุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่กุศลได้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ละเอียด หากสติเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ในขณะที่นึกถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้น เป็นโลภมูลจิตหรือว่าเป็นกุศลจิต

สำหรับรูปขันธ์ทั้งหมด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต เท่านั้น ไม่เป็นอารัมมณธิปติของกุศลจิต

ถ้าไม่ศึกษาอย่างนี้ ก็จะหลงคิดว่า ขณะที่กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกุศลได้ สำหรับรูปขันธ์ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในชีวิตประจำวัน ให้ทราบว่า เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต

ท่านผู้ฟังชอบสีสันวรรณะของเสื้อผ้า หรือของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกระทั่งท่านต้องไปแสวงหา หรือ ซื้อมา หมายความว่า ขณะนั้น อารมณ์นั้น รูปนั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต คือ ขณะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผ่านไปเฉยๆ แต่เป็นอารมณ์ไม่ควรทอดทิ้ง

เห็นไหม ว่าเป็นที่ปรารถนาเพียงไรเป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ที่ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสที่กระทบลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย ก็จะได้เห็นว่า รูปใดเป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" และรูปใดเป็น "อารัมมณปัจจัย" เช่น ถ้าเป็น "อารัมมณปัจจัย" โลภะก็ชอบ แต่ว่าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" แล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น แต่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความขวนขวาย แล้วก็ทำให้เกิดความปรารถนาอย่างหนักแน่นที่จะไม่ทอดทิ้งในอารมณ์นั้นไป

นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพียงแต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมะนั้น โดยบัญญัติศัพท์ เพื่อให้รู้ถึงสภาพของธรรมนั้นๆ ว่าสภาพธรรมใดเป็นปัจจัย โดยปัจจัยใด เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ก็จะไม่ใช้เพียงแต่คำว่า อารัมมณปัจจัย มีท่านผู้ฟังสงสัยไหมคะ

ถ. ฟังท่านอาจารย์บรรยายมานี้ ก็พอสรุปได้ว่า อธิปติปัจจัย มีองค์ธรรม ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

ส. สำหรับ สหชาตาธิปติปัจจัย

ถ. ยังสงสัยอยู่ว่า วิมังสาธิปติ เป็นไปในทางกุศลก็ได้ หรืออกุศลก็ได้

ส. (วิมังสาธิปติ) เป็นไปในทางอกุศลไม่ได้เลยค่ะ และสำหรับกุศล ก็ต้องเว้นกุศลญาณวิปปยุตต์ด้วย

ถ. ก็เหลือองค์ธรรมอีก ๓ ที่เป็นไปได้ทั้ง ๒ ทาง

ส. ถูกต้องค่ะ

ถ. ในการเปรียบเทียบกับ อิทธิบาท ๔ ที่ได้พูดถึงไปเมื่อกี้นี้ ก็แสดงให้เห็นว่าอิทธิบาท ๔ นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางอกุศล

ส. ถูกต้องค่ะ อิทธิบาท ๔ ไม่ไปเป็นในกุศลอื่น นอกจาก ในภาวนากุศล เพราะเหตุว่า เป็นปัจจัยให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งได้แก่ ความสำเร็จที่เป็นความมั่นคงของความสงบ ซึ่งเป็นสมถภาวนาและความสำเร็จ คือ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็น วิปัสสนาภาวนา

ที่ว่ารูปขันธ์ทั้งหมด ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต มีท่านผู้ฟังสงสัยไหม ท่านผู้ฟังคิดว่าถูกต้องไหม ที่ว่า รูปขันธ์ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

ถ. อันนี้มันก็น่าคิดอยู่ ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ก็ขณะที่รูป เป็นอารมณ์ทางตา เมื่อขณะที่สติเกิดขึ้นและระลึกรู้ ว่าเป็นเพียงรูปธรรม ขณะนั้น จิตก็เป็นกุศล ทำไมว่าเป็นกุศลจิตไม่ได้

ส. หมายความว่า รูปขันธ์ เป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ แต่ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต. เป็นความละเอียดของสภาพธรรมซึ่งเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า รูปธรรมเป็นปัจจัย (อารัมมณปัจจัย) ให้เกิดกุศลจิตได้ และ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตก็ได้. แต่ รูปธรรมทั้งหมด ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๓

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 24 พ.ย. 2552

หมายความว่า รูปขันธ์ เป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ แต่ ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต เป็นความละเอียดของสภาพธรรมซึ่งเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า รูปธรรมเป็นปัจจัย (อารัมมณปัจจัย) ให้เกิดกุศลจิตได้ และ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตได้ แต่รูปธรรมทั้งหมดไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต.

ที่ท่านอาจารย์กล่าวมาข้างต้นนั้น ยังไม่ค่อยที่จะเข้าใจเท่าใดนัก ต้องขอความอนุเคราะห์การขยายความโดยละเอียดจากท่านวิทยากรสักนิดนะครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 25 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
hadezz
วันที่ 27 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ