เรื่อง อิ่มเดียว หลับเดียว อยู่ที่เดียว แต่งชุดเดียว [อรรถกถากามสูตร]
เรื่อง อิ่มเดียว หลับเดียว อยู่ที่เดียว แต่งชุดเดียว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ 152
ข้อความบางตอนจาก อรรถกถากามสูตร
แน่ะพ่อ เราเจ็บคราวนี้เพราะตัณหา ถ้าเจ้าพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด มาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจได้พระนครเหล่านั้นด้วยการเศร้าโศกหรือ ตรัสว่าไม่อาจดอกพ่อ กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น เหตุไร พระองค์จึงทรงเศร้าโศกพระเจ้าข้า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมละร่างกายของตน เป็นต้น ตลอดถึง สวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหมดไป
แม้พระองค์ จะยึดครองราชสมบัติ ในพระนครทั้งสี่ได้ พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชนะทั้งสี่ บรรทมเหนือพระที่ทั้งสี่ ทรงเครื่องประดับทั้งสี่พร้อมกันคราว เดียวไม่ได้
พระองค์ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้น ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอุบายทั้งสี่ไปได้. พระมหาสัตว์ ครั้นถวายโอวาทพระราชาดังนี้แล้วเมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น แล้ว ย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้.
เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้น ย่อมสำเร็จได้ ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประสบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมจะเกิดความกระหายใคร่จะดื่มน้ำฉะนั้น. ตัณหาก็ดี ความกระหายก็ดีของคนพาลมีปัญญาน้อย ไม่รู้อะไร ย่อมเจริญยิ่งขึ้นทุกที เหมือน เขาโคย่อมเจริญขึ้นตามตัวฉะนั้น.
แม้จะให้สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว โค ม้า ข้าทาสหญิงชายหมดทั้งแผ่นดิน ก็ยังไม่พอแก่คน คนเดียว รู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมสม่ำเสมอ. พระราชาทรงปราบชนะทั่วแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินใหญ่มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ทรงครอง มหาสมุทรฝั่งนี้แล้ว มีพระทัยไม่อิ่ม ยังปรารถนาแม้ มหาสมุทรฝั่งโน้นต่อไปอีก.
เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ความอิ่ม ด้วยใจตราบนั้น ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา มีกาย และใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็นโทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นนั่นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม.
บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อน ด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาย่อม กระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้.
ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมบ บุรุษผู้มีปัญญาเปรียบ ด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย. ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้า ส่วนใดควรเว้นก็เว้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำ รองเท้าขายได้ราคาแล้ว ย่อมมีความสุข เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุข ทั้งปวงก็พึงละกามทั้งปวงเสีย.