คัมภีรภาวะทั้งสี่
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 101
ในปิฎก ๓ นี้ พึงทราบว่า แต่ละปิฎกมีคัมภีรภาวะ ทั้ง ๔ คือ ความลึกซึ้งโดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนา และโดยปฏิเวธ ในคัมภีรภาวะทั้ง ๔ นั้น ธรรมได้แก่บาลี อรรถได้แก่เนื้อความของบาลีนั้นแหละ เทศนาได้แก่การแสดงซึ่งบาลีนั้น อันกำหนดไว้อย่างดีด้วยใจ ปฏิเวธ ได้แก่ความหยั่งรู้บาลี และเนื้อความของบาลีตามความเป็นจริง ก็เพราะธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธเหล่านี้ ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ ผู้มีปัญญาน้อยทั้งหลาย หยั่งรู้ได้ยาก และเป็นที่พึ่งไม่ได้ เหมือนมหาสมุทร สัตว์เล็กทั้งหลาย มีกระต่ายเป็นต้น พึ่งไม่ได้ฉะนั้น จึงเป็นของลึกซึ้ง ในปิฎก ๓ นี้ พึงทราบคัมภีรภาวะ ทั้ง ๔ อย่าง ในแต่ละปิฎกด้วยประการฉะนี้
บทว่า คมฺภีรา ความว่า มีที่ตั้งอันญาณของบุคคลอื่นหยั่งไม่ได้ ยกเว้นตถาคต เหมือนมหาสมุทรอันปลายจะงอยปากยุงหยั่งไม่ถึง ฉะนั้น ที่ชื่อว่า เห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้งนั่นเอง ที่ชื่อว่า รู้ตามได้ยาก เพราะเห็นได้ยากนั่นเอง ที่ชื่อว่า สงบ เพราะดับความเร่าร้อนทั้งหมด ก็ชื่อว่า สงบ แม้เพราะเป็นไปในอารมณ์ที่สงบ ที่ชื่อว่า ประณีต เพราะทำให้ไม่รู้จักอิ่ม ดุจโภชนะที่มีรสอร่อย ที่ชื่อว่า คาดคะเนเอาไม่ได้ เพราะจะใช้การคะเนเอาไม่ได้ เหตุเป็นวิสัยแห่งญาณอันสูงสุด ที่ชื่อว่า ละเอียด เพราะมีสภาพละเอียดอ่อน ที่ชื่อว่า รู้ได้เฉพาะบัณฑิต เพราะบัณฑิตเท่านั้นพึงรู้ เหตุมิใช่วิสัยของพวกพาล