อารัมมณาธิปติปัจจัย [๕]

 
พุทธรักษา
วันที่  25 พ.ย. 2552
หมายเลข  14358
อ่าน  1,450

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จริงหรือไม่จริงคะ ธรรมะนี้ต้องพิจารณา เช่น ในขณะที่เห็นรูป ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ที่จะให้ทราบตามความเป็นจริงว่า หลังจากที่เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เพราะเหตุว่า รูปธรรม เป็น "อารัมมณปัจจัย" ของกุศลจิต ก็ได้ รูปธรรม เป็น "อารัมมณปัจจัย" ของอกุศลจิต ก็ได้ แต่ รูปธรรม เป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" ของกุศลจิตไม่ได้

รูปธรรม จะเป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" ของกุศลจิตไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่ต้องพิจารณาธรรมะจริงๆ เช่น ขณะที่เห็นพระพุทธรูป แล้วเกิดกุศลจิต พระพุทธรูปเป็น "อารัมมณปัจจัย" ทำให้กุศลจิตเกิด แต่พระพุทธรูปไม่เป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" ของกุศลจิต

เพราะเหตุว่า รูปธรรมทั้งหมด ไม่สามารถที่จะทำให้กุศลจิต งอกงามไพบูลย์ได้ มีรูปไหนบ้าง ที่จะทำให้กุศลจิตงอกงามไพบูลย์

ปัจจัยที่กุศลจิตจะงอกงามไพบูลย์ก็เพราะ "การสะสมอบรมกุศลจิตบ่อยๆ เนืองๆ " ไม่ใช่เพราะอาศัยรูปธรรมเป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" ให้กุศลจิตเกิด แต่ปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตเพิ่มขึ้น งอกงามไพบูลย์ขึ้นก็เพราะ "การสั่งสมของกุศลแต่ละขณะๆ " นั่นเองที่เป็นปัจจัยทำให้กุศลเจริญขึ้น กุศลจะเจริญขึ้นเพราะ รูป เป็น "อธิปติปัจจัย" ไม่ได้ กุศลจะเจริญได้เพราะปัจจัยอื่น เช่น "สหชาตาธิปติปัจจัย" เพราะฉันทะในกุศล หรือว่าเพราะวิริยะในกุศล หรือเพราะปัญญาในกุศล แต่ไม่ใช่เพราะรูปธรรม เป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" ให้กุศลเจริญขึ้น

เช่น ขณะที่ท่านผู้ฟังนึกอยากจะทำบุญ ถวายบางสิ่งของบางประการ เป็นพิเศษ ลองพิจารณาสิคะว่า ขณะนั้น (สิ่งของที่ถวาย) จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตได้ไหม ถ้าเห็นผ้าเนื้อดี หรือจีวรที่เหมาะที่ควรสำหรับการใช้สอยอย่างสบาย ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต คือ (กุศลจิต) คิดที่จะถวายแด่พระภิกษุได้ แต่ว่า (สิ่งของที่ถวาย) จะเป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล" ได้ไหม ชีวิตประจำวันแท้ๆ ที่จะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงให้ถูกต้อง

แล้วก็ควรที่จะสังเกตว่า ขณะที่ได้ถวายทานบางประการที่ประณีต อันเป็นที่น่าพอใจในกุศลที่กระทำแล้ว ขณะนั้น ต้องพร้อมด้วย "สติสัมปชัญญะ" จึงจะระลึกรู้ได้ว่า เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต และ การที่กุศลจะเพิ่มพูนไพบูลย์ขึ้นนั้น ไม่ใช่ว่าเพราะติดหรือว่ายินดีพอใจในรูปธรรมที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุ คือ "การระลึกถึงกุศล"

ขณะที่สติระลึกถึงสภาพความผ่องใสของจิตด้วย "โยนิโสมนสิการ" ขณะนั้น จึงจะเป็นปัจจัยทำให้จิตเป็นกุศลเพิ่มพูนขึ้นได้ด้วย แต่ถ้าไปติดข้องในทานกุศลนั้น โดยความที่เป็นวัตถุที่ประณีต หรือโดยความที่เป็นเราที่กระทำทานกุศลนั้น หรือว่า วัตถุทานนั้นเป็นของเรา ขณะนั้น ให้ทราบว่าไม่ใช่กุศลจิตแล้ว
การที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องรู้ลักษณะของกุศลจิตตามความเป็นจริงว่า ขณะที่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่ขณะที่เป็นอกุศลจิต กุศลจิตจึงจะเจริญขึ้นได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 พ.ย. 2552

ถ. ขอให้อาจารย์ช่วยขยายความอีกว่าอารัมมณปัจจัย กับ อารัมมณาธิปติปัจจัย นี้ มีต่างกันยังไงครับ?

ส. รูปธรรม เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ได้ แต่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต ไม่ได้ ตามความเป็นจริง ให้ทุกท่านทิ้งรูป ทิ้งได้มั้ย ที่จะไม่ให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ให้ได้เสียงที่ปรากฏทางหู ให้หมดความไยดีในเรื่องของสวยๆ งามๆ ที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่เพราะๆ ในกลิ่นหอมๆ ในรสที่อร่อยๆ ในโผฏฐัพพะที่เป็นสุข ทิ้งได้มั้ย

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้น รูปเหล่านั้นเป็น "อารัมมณปัจจัย" แต่ว่าขณะที่รูปเหล่านั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้สังเกตดูว่า รูปเหล่านั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ของโลภมูลจิตซึ่งไม่ทิ้งอารมณ์นั้น บางครั้งทิ้งได้เดี๋ยวเดียวใช่มั้ย แล้วก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยใหม่อีกแล้ว เพราะเหตุว่า ขณะที่รูปเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย ขณะนั้น รูปนั้นๆ เป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ไม่ควรทอดทิ้ง

แต่ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้น ไม่ได้ปรารถนา ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้ยึดติดรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้น รูปนั้นๆ จึงไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ถ้าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้ง รูป จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโทสมูลจิต เพราะเหตุว่า โทสมูลจิตไม่ปรารถนาในอารมณ์

อารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นธรรมะที่เป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจการเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย ชีวิตประจำวันจริงๆ แล้ว เป็นอย่างนี้

อารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้งทั้งหลาย ที่กำลังปรารถนาขณะใด ขณะนั้น ไม่ได้เป็นแต่เพียง "อารัมมณปัจจัย" ของโลภมูลจิตเท่านั้น แต่ว่า เป็น "อารัมมณาธิปติปัจจัย" ของโลภมูจิต ด้วย ถ้าเป็นรูป รูปทั้งหมด ที่น่าปรารถนา เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต

บางท่านบอกว่า ปรารถนาที่จะถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ขณะนั้น กุศลจิตเกิด ในขณะที่มีรูป (สิ่งของที่จะถวาย) เป็นอารมณ์ แต่ (รูป สิ่งของที่จะถวาย) ไม่ใช่ อารัมมณาธิปติปัจจัย เพราะไม่มีกำลัง โดยนัยที่ว่า เมื่อเห็นรูปนั้นแล้ว กุศลจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่กุศลจะงอกงามไพบูลย์ เพราะกุศลก่อนๆ ที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย (คือ กุศลจิตขณะก่อนๆ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่กุศลจิตขณะต่อๆ ไป)

หรือ ขณะที่ระลึกถึงกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ระลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นกุศล แล้วจิตก็ผ่องใส ว่าขณะที่กระทำกุศลนั้นๆ เป็นกุศลจิตแท้ๆ คือ ไม่ได้ปรารถนาสิ่งใดเลย ในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด ซึ่งไม่ใช่ขณะที่ระลึกถึงวัตถุทาน ซึ่งเป็นรูป แล้วก็กุศลจิตจะผ่องใสได้มากมาย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ควรพิจารณาว่า ขณะใดก็ตาม ที่ระลึกถึงวัตถุทานที่ประณีต สติสัมปชัญญะ ควรจะเกิด และระลึกรู้ว่า ในขณะนั้น เป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 พ.ย. 2552

แม้แต่ในขณะที่กระทำทานกุศล ถ้าอารมณ์ (คือ รูปธรรม) ที่ประณีต กำลังปรากฏในขณะที่กำลังกระทำทานกุศล สติสัมปชัญญะ ก็ควรที่จะระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่รูปซึ่งประณีต และกำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตหรือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต นี่คือการที่จะอบรมเจริญกุศลแท้ๆ ยิ่งขึ้น คือ สติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นรู้ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล ว่าต่างกับขณะที่จิตเป็นกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะทราบมั้ย ว่าความพอใจในวัตถุทาน ขณะนั้น เป็นโลภมูลจิตหรือว่าเป็นกุศลจิต.? เพราะสภาพธรรมใกล้เคียงกันมาก

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สังเกตจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของโลภมูลจิต ออกจากลักษณะของกุศลจิต ในขณะที่กำลังกระทำกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด เช่น ถ้าหากอาหารที่จะถวายพระภิกษุ มีรสอร่อย แยกได้ไหม ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต หรือขณะไหนเป็นอกุศลจิต หรือจะเหมารวมไปว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ถ้าเหมารวม ว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ผิดหรือถูก เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แม้แต่ในการพิจารณาธรรม

เมื่อมีความเข้าใจที่จะให้ตรึกตรอง และพิจารณาเพิ่มขึ้น จึงเกื้อกูล อุปการะ ในขณะที่กระทำกุศลที่จะให้สติระลึกได้ ว่าแม้ในขณะที่กระทำทานกุศลนั้น ขณะนั้น จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

สติสัมปชัญญะ ก็จะต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง คือ รู้ว่าเมื่อเป็นอกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต เมื่อเป็นกุศลจิต ก็เป็นกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่เรา อกุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา กุศลจิต ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา การเข้าใจเรื่องของปัจจัย จะทำให้เห็น "ความเป็นอนัตตา" ละเอียดขึ้น

ชีวิตตามความเป็นจริง เห็นรูปทางตาเสมอๆ ได้ยินเสียงทางหูก็บ่อย ได้กลิ่นทางจมูกอยู่เรื่อยๆ เมื่อกลิ่นกระทบกับจมูก หรือลิ้มรส ทั้งเช้า เที่ยง บ่าย เย็น แล้วก็มีการกระทบสัมผัสอยู่บ่อยๆ ประโยชน์ก็คือว่า จะได้ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลหรืออกุศลเกิดตามปกติ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อกุศลจิตเกิดแล้วๆ ๆ โดยความไม่รู้ แต่เมื่อได้ศึกษาโดยละเอียด จึงเริ่มเห็นโทษของอกุศลจิตซึ่งเกิดบ่อยเหลือเกิน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี้เป็นหนทางให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง เมื่อรู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล เพราะฉะนั้น จึงควรศึกษาเรื่องของสภาพธรรม ตามปกติ ตามความเป็นจริงให้ละเอียดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 พ.ย. 2552

การศึกษาธรรมะเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเหตุว่า จะต้องพิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ได้ศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว จะไม่เห็นเลยว่าลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั้น เป็นอย่างไร

บางท่านอาจจะคิดว่า ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้คือเรื่องปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดเกินไป บางท่านเข้าใจอย่างนั้น แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้น ก็ยากที่จะเห็นว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังถึงเพื่อนของท่านคนหนึ่ง ที่เวลาที่ได้ฟังวิทยุเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดไม่ตรงกับใจที่กำลังต้องการฟังธรรมะบางประการ เช่น อยากจะฟังเรื่องเมตตา แต่ในวันที่เปิดวิทยุก็ไม่ได้รับฟังเรื่องเมตตา แต่เป็นเรื่องอื่น ก็ไม่ตรงกับใจของท่าน เพราะว่าท่านคงอยากจะเป็นผู้ที่เจริญเมตตา แต่ก็อย่าลืมว่า ถึงแม้จะรู้ว่าเมตตาคืออะไร มีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นในขณะไหนก็ตาม ถึงอย่างนั้น อกุศลจิตก็ยังเกิดอยู่ ไม่ใช่ว่ามีใครที่รู้เรื่องของเมตตาแล้ว จะมีเมตตาอยู่ได้ตลอดเวลาโดยที่อกุศลจิตไม่เกิดเลย เพราะเหตุว่า อกุศลธรรมเป็นพืชเชื้อที่ตายยาก ดับยาก ถ้าไม่อบรมปัญญาที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมโดยถ่องแท้ โดยละเอียด ถูกต้องจริงๆ อกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะดับได้ ถึงแม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของเมตตา หรือเรื่องของกุศลนานาประการก็ตาม
แต่ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ จะต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล นี่เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาธรรมะโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ เพราะมิฉะนั้น จะเข้าใจผิดว่าอกุศลเป็นกุศล

อย่างท่านที่ต้องการจะมีเมตตา เป็นเพราะเหตุว่า ท่านไม่ต้องการที่จะมีโทสะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงปรารถนาที่จะมีเมตตา แต่เวลาที่โทสะไม่เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าท่านจะเห็นโทษของโลภมูลจิต และโมหมูลจิตหรือเปล่า และแท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมที่เป็นอกุศลนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะที่เป็นโทสะเพียงอย่างเดียว แม้ในขณะที่เป็นโลภะ หรือในขณะที่เป็นโมหะ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว และข้อสำคัญก็คือว่า ลักษณะของอกุศลที่ละเอียด ซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่าเป็นอกุศล ก็เพราะเข้าใจผิดว่า อกุศลเป็นกุศล นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 พ.ย. 2552

ด้วยเหตุนี้ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏกับตัวท่านโดยละเอียด ก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง ว่าจิตในขณะนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพื่อที่จะได้อบรมเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้น มิเช่นนั้น ก็มีแต่ความต้องการธรรมบางประการ เหมือนกับต้องการยาบางชนิดในร้านขายยาเวลาที่เป็นโรคชนิดหนึ่งชนิดใด เมื่อเป็นโรค ก็อยากจะซื้อยาชนิดนั้นมาบำบัดโรค

แต่ธรรมะ ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาธรรมะโดยละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยการพิจารณา การไตร่ตรอง จนกว่าจะเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการท่องจำ แต่ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผล จนกว่าจะเข้าใจ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็เป็นเรื่องของเหตุและผลทั้งหมด ที่คงทนต่อการพิสูจน์ คงทนต่อการพิจารณา

ข้อความบางตอนจากเทปชุดปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๔

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 26 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
hadezz
วันที่ 27 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุภาพร
วันที่ 9 ธ.ค. 2552

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ