ทบทวนเรื่องของปัจจัย [๓]

 
พุทธรักษา
วันที่  29 พ.ย. 2552
หมายเลข  14376
อ่าน  1,321

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าเกิดพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้น สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้น เป็น สภาพที่พอใจ หรือว่าถ้าขณะนั้นเป็นความไม่แช่มชื่น เป็นลักษณะที่หยาบกระด้างหรือ เป็นความประทุษร้าย หรือเป็นความโกรธ ในขณะนั้น ก็รู้ว่าทันทีที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วโกรธ หรือว่า ขุ่นเคืองใจไม่พอใจ หรือว่าทันทีที่ได้ยินเสียงแล้วก็ขุ่นเคืองใจ ไม่ชอบใจในเสียงนั้น

ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่าจิตที่ทำชวนกิจ (ชวนจิต) แล่นไปในอารมณ์ด้วยความยินดี ซึ่ง เป็นโลภมูลจิตเกิดดับสืบต่อกัน (ตามปกติแล้วก็ ๗ ขณะ) หรือว่า ถ้าเป็นขณะที่ไม่พอใจ หมายความว่า ขณะนั้น ชวนจิต เป็นโทสมูลจิต ที่ไม่ได้เกิดขณะเดียวอย่างจักขุวิญญาณจิต หรือ โสตวิญญาณจิต แต่ว่าเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะตามปกติ จึงเป็น ชวนจิต

ชวนจิต เกิดปรากฏในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนสามารถจะรู้ได้...ในขณะที่จิตนั้นเป็น "ชวนจิต" และข้อความในอรรถกถาบางแห่ง ก็ได้แสดงถึงขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ว่าเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ในขณะที่เป็นชวนจิต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 พ.ย. 2552

---เวลานี้ท่านผู้ฟังแยกไม่ออกแน่ใช่มั้ยคะ ว่าระหว่างขณะไหนที่เป็นจักขุวิญญาณจิต ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ซึ่งเกิดแล้ว ดับแล้ว อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งขณะต่อไป ต้องเป็นสัมปฏิจฉันนจิต ก็แยกไม่ได้ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

เพราะฉะนั้น ปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจึงต้องรู้ในขณะที่เป็นชวนจิต ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวาร แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ก็ต้องเป็นทางมโนทวารวิถี

แต่ในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ถ้าชวนวิถีจิตไม่เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ท่านผู้ฟังจะไม่ปรากฏว่ามีการเห็น คือ จักขุวิญญาณจิต ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏพอที่สติจะระลึกและศึกษาให้รู้ว่า ขณะนั้นสติระลึกตรงลักษณะของรูปธรรมหรือว่า ระลึกตรงลักษณะของนามธรรม

เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งจะเป็น สหชาตาธิปติปัจจัย จึงต้องเป็นเฉพาะในขณะที่เป็นชวนจิต ไม่ใช่ขณะเห็น (ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพะ) ไม่ใช่ขณะสัมปฏิจฉันนจิต ไม่ใช่ขณะสันตีรณจิต ไม่ใช่ขณะโวฏฐัพพนจิตและสำหรับชวนจิตทั้งหมด คือ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็ได้แก่ อกุศลจิต และกุศลจิตสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิตเพราะฉะนั้น ชวนจิตของพระอรหันต์ เป็นกริยาจิต

ชวนจิตทั้งหมด มี ๕๕ ประเภทซึ่งได้เคยกล่าวถึงโดยสังเขปแล้ว เมื่อจำแนกโดยชาติบ้างโดยภูมิบ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 พ.ย. 2552

สำหรับในวันนี้ เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่าชวนจิต ๕๕ ประเภท คือ จิตที่เป็นกุศลจิตบ้าง และอกุศลจิตบ้าง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และ กริยาจิตของพระอรหันต์ และ โลกุตตรจิต ทั้ง ๘ ประเภท

ชวนจิตทั้งหมด ๕๕ ประเภท คือ อกุศลจิต ๑๒ ประเภท

มหากุศลจิต คือ กามาวจรกุศลจิต ๘ ประเภท

มหากริยาจิต คือ กามาวจรกริยาจิตของพระอรหันต์ ๘ ประเภท

รูปาวจรกุศลจิต ๕ ประเภท

รูปาวจรกริยาจิตของพระอรหันต์ ๕ ประเภท

อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ประเภท และ

อรูปาวจรกริยาจิตของพระอรหันต์ ๔ ประเภท

โลกุตรกุศลจิต ๔ ประเภท

โลกุตรวิบากจิต ๔ ประเภท

รวมเป็นชวนจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๕๔ ประเภท

และ หสิตุปปาทจิต คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของอรหันต์ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเจตสิกอีก ๑ ประเภท

รวมเป็นชวนจิตทั้งหมด ๕๕ ประเภท

สำหรับกุศลจิตในกามภูมิ คือไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต มี ๘ ประเภทชื่อว่า กามาวจรกุศล ๘ ประเภท

เวลาที่ท่านจะให้ทานก็ดี วิรัตทุจริตก็ดี หรือว่าจิตที่สงบเกิดขึ้นหรือว่าจิตขณะนั้น กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และรู้ว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ในขณะนั้นก็เป็นกามาวจรกุศลจิตนั่นเองเพราะเหตุว่า ยังไม่ใช่ฌานจิต ยังไม่ใช่รูปาวจรกุศลจิต ยังไม่ใช่อรูปาวจรกุศลจิต ยังไม่ใช่โลกุตตรกุศลจิตเพราะฉะนั้น สำหรับกุศลจิต โดยภูมิมี ๔ ภูมิ คือ

กามาวจรกุศลมี ๘ ประเภท

รูปาวจรกุศลจิต คือ รูปฌานจิต มี ๕ ประเภท

อรูปาวจรกุศลจิต คือ อรูปฌานกุศลจิตมี ๔ ประเภท และ

โลกุตตรกุศลจิต ๔ ประเภท ได้แก่

โสตาปัตติมัคคจิต ๑

สกทาคามิมัคคจิต ๑

อนาคามิมัคคจิต ๑

อรหัตตมัคคจิต ๑

กามาวจรกุศลจิต ๘ รูปาวจรกุศลจิต ๕ อรูปาวจรชวกุศลจิต ๔ และ โลกุตตรกุศลจิต ๔ โดยจำนวน ไม่จำเป็น ถ้าท่านผู้ฟังจะไม่นับก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่า สำหรับ จิตชาติกุศล มี ๔ ภูมิ

ชวนจิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นชาติอกุศลก็ได้ เป็นชาติกุศลก็ได้ แต่ ชวนจิตของพระอรหันต์ เป็นชาติกริยา เท่านั้น

เพราะเหตุว่า เมื่อมีการเห็น (เป็นต้น) เกิดขึ้นแล้วไม่มี "เหตุปัจจัย" ที่จะให้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่สามารถเป็นโสภณจิตซึ่งกระทำชวนจิตโดยความเป็นจิตชาติกริยาเพราเหตุว่า จะไม่เป็นเหตุให้เกิดผล เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นมหากุศลจิต อย่างผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ ก็เป็นมหากริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ที่ได้รูปาวจรฌาน ก็เป็นรูปาวจรกริยาจิต และถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ได้ถึงอรูปฌาน ก็เป็นอรูปาวจรกริยาจิต

โลกุตตรจิต ไม่มีชาติกิริยา

ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๕

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา

รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ คือ กุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ โลกุตตรจิต มี ๒ ชาติ คือ เป็นโลกุตตรกุศลประเภท ๑ เป็นโลกุตตรวิบากประเภท ๑ (ไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต) โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง คือ

โสตาปัตติมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล

โสตาปัตติผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก

สกทาคามิมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล

สกทาคามิผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก

อนาคามิมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล

อนาคามิผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก

อรหัตตมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล

อรหัตตผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก

จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ