การเห็นความไม่เที่ยงด้วยวิปัสสนาปัญญา
การเห็นความไม่เที่ยงด้วย วิปัสสนาปัญญา ส่วนการคิดถึงความไม่เที่ยงเป็นการตรึก นึกคิดถึงเรื่องราว โดยไม่ประจักษ์ลักษณะความไม่เที่ยงในขณะนั้นจริงๆ ส่วนวิปัสสนาปัญญา ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนั้นจริงๆ
ผู้ที่ใจร้อนอยากจะให้วิปัสสนาญาณเกิดเร็วๆ นั้น ย่อมพยายามทำอย่างอื่นแทนการระลึก พิจารณา สังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่เกิดขึ้น ปรากฏตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง แต่ไม่มีทางจะเร่งรัดปัญญาได้เลย เหตุที่จะอบรมปัญญาให้ค่อยๆ เจริญขึ้นได้นั้น มีหนทางเดียว คือ สติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจำวันเท่านั้น
ถ้าทำอย่างอื่นที่ผิดไปจากนี้ ก็แน่นอนที่ผลจะต้องผิดไปตามเหตุที่ผิดด้วย การปฏิบัติผิดนั้น เกิดจากการหวังผลอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่ถูก โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด จึงเป็นมิจฉามรรค ที่นำไปสู่มิจฉาวิมุติคือ การพ้นอย่างผิดๆ เพราะไม่ใช่การพ้นจากกิเลสอย่างถูกต้อง แต่เข้าใจผิด ว่าพ้นจากกิเลสแล้ว
จากข้อความตอนท้าย วิปัสสนาญาณ ที่ 3
ในหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขปจิตตสังเขป
และภาคผนวก หน้า 474
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์