อินเดีย ... อีกแล้ว 14 บ้านนางสุชาดา
บ้านนางสุชาดา
สถานที่สำคัญอีกแห่งในคยาที่ผู้จาริกแสวงบุญจะต้องไปเยี่ยมชม คือ บ้านนางสุชาดา และสถานที่ลอยถาด ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตรงกันข้ามกับพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อไปบ้านนางสุชาดาครั้งแรกนั้น (เมื่อ ปี ๒๕๓๐) ต้องเดินข้ามแม่น้ำเนรัญชราที่วัง มหันต์ จำได้ว่า ที่บันไดท่าน้ำทำด้วยศิลานั้น มีการแกะสลักพระพุทธรูปไว้ที่ใต้ขั้น บันได เวลาที่ลงบันไดก็จะต้องเดินเหยียบโดยที่ไม่เห็นเลย จนกระทั่งขากลับมาขึ้นท่าเก่า จึงได้เห็นรูปสลักนั้น เป็นการลบหลู่พระพุทธศาสนาของผู้ไม่หวังดีอย่างแท้จริง โชคดีที่ปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำ ทำให้ไม่ต้องเดินบนบันไดนั้นอีก แม่น้ำเนรัญชรา ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ นั้นแห้งผาก เดินข้ามได้สบาย จนถึงเนินดินสูง ที่บอกว่า เป็นบ้านนางสุชาดา ไม่มีร่องรอยว่าเคยเป็นบ้านนางสุชาดาเลย มีบ้านชาวบ้านที่นำวัว และแกะมาเลี้ยง
เมื่อไปอีกครั้งในปี ๒๕๔๗ มีการบูรณะ แต่ก็เห็นแค่เป็นเนินอิฐ มีหญ้าและต้นไม้ขึ้นอยู่ ทั่วไป แม้จะไม่มีบ้านชาวบ้านในบริเวณนั้นแล้วก็ตาม และเมื่อไปปีที่แล้ว ได้มีการบูรณะ กั้นบริเวณเป็นสัดส่วน สวยงามขึ้นมาก แต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อเห็น ซึ่งถ้า ไม่มีความคิดนึกต่อ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และถ้าคิดต่อตามความรู้ นิดหน่อย ก็จะคิดว่าเป็นซากปรักหักพังของสถานที่แห่งหนึ่งที่บอกว่าเป็นบ้านนาง สุชาดา และถ้ามีความรู้มากขึ้นก็สามารถจะคิดเรื่องต่อไปได้อีกยาว จึงอ่านพุทธประวัติ ได้ความรู้มาเล่าให้ยาวออกไปอีก (ถ้าคุณคำปั่นมีข้อมูลในพระไตรปิฎก ก็กรุณาเพิ่ม เติมให้สมบูรณ์ด้วยค่ะ และเช่นเคยถ้าคุณวันชัยมีภาพประกอบ ขอความกรุณาแทรกให้ ด้วยค่ะ)
นางสุชาดาเป็นธิดาของนายบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ ในเช้าวันเพ็ญ เดือน ๖ เมื่อ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช ได้ทำการบวงสรวงเทวดา ด้วยการหุงข้าวปายาส คือ ข้าวสุกหุงด้วยน้ำนมโคล้วน จัดลงในถาดทองคำนำไปที่ต้นโพธิ์ใกล้บ้านของนาง ในขณะนั้นหลังจากพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา (การบำเพ็ญเพียรกล้าที่ยากจะมี ใครทำตามได้) ที่เขาดงคศิริ ซึ่งอยู่ห่างจากพระศรีมหาโพธิ์ไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร อยู่เป็นเวลา ๖ ปีแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์ได้ จึงทรงละวิธีบำเพ็ญนั้นหัน มาเสวยพระกระยาหารตามปกติ เช้าวันนั้นพระองค์เสด็จไปประทับนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์นั้น นางเข้าใจว่าเป็นเทวดา จึงน้อมข้าวปายาสเข้าไปถวาย ในเวลานั้นบาตรของพระองค์ หายไป จึงทรงรับข้าวปายาสนั้นทั้งถาดด้วยพระหัตถ์ แล้วทอดพระเนตรดูนาง นาง ทราบพระอาการจึงทูลถวายทั้งถาดแล้วกลับไป พระโพธิสัตว์ทรงถือถาดข้าวปายาส เสด็จไปสู่ท่าแห่งแม่น้ำเนรัญชรา (ท่าสุปติฏฐะ) สรงแล้วเสวยข้าวปายาสหมดแล้ว ทรงลอยถาดทองไป ถาดนั้นลอยทวนกระแสแม่น้ำ จึงตกลงพระทัยว่า เราจักเป็นพระ พุทธเจ้าในวันนี้
ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ครั้งนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงถือถาดทอง เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวาง ถาดทองไว้ที่ริมฝั่งใกล้ท่าน้ำชื่อสุปติฏฐะ สรงสนานแล้ว เสด็จขึ้น ทรงทำข้าว ปายาสเป็นก้อนได้ ๔๙ ก้อน เสวยข้าวปายาสนั้นแล้วทรงลอยถาดทองนั้นลงไป พร้อมทรงอธิษฐานว่า ถ้าวันนี้เราจักเป็นพระพุทธเจ้าไซร้ ขอถาดทองนี้ จงลอยทวน น้ำ ถาดนั้นก็ลอยทวนน้ำ เข้าไปยังภพของพระยานาคชื่อว่า กาฬนาคราช ยกถาด ของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ขึ้นแล้วตั้งอยู่ข้างใต้ถาดเหล่านั้น (อรรถกถา พุทธวงศ์)
... จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้ว เสด็จปรินิพพาน ด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (การดับกิเลสที่ยังมีขันธ์ ๕ เหลือ) และเสวยบิณฑบาตที่ นายจุนทะถวายแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (การดับกิเลสไม่มี ขันธ์ ๕ เหลือ) รวมความว่ามีผลเสมอกันโดยการปรินิพพาน
... ในกาลต่อมา นางสุชาดาได้ทราบว่า เล่ากันมาว่า ผู้ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่รุกขเทวดา เป็นพระโพธิสัตว์ ได้ยินว่าพระโพธิสัตว์นั้นฉันบิณฑบาตนั้นแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมา สัมโพธิญาณ พระองค์ดำรงอยู่ได้ด้วยบิณฑบาตนั้น ๗ สัปดาห์ เมื่อนางได้ฟังดังนั้น ก็ระลึกได้ว่า เป็นลาภของเราหนอ จึงเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง
ไม่ทราบว่านางสุชาดาได้บรรลุมรรคผลขั้นใดหรือไม่ ขอกราบอนุโมทนาในกุศลที่ยิ่ง ใหญ่ของท่าน คิดเอาเองว่าท่านคงเคยปรารถนาความเป็นผู้ถวายข้าวปายาสก่อนการ ตรัสรู้มาก่อน (เช่นเดียวกับอุบาสก ๒ ท่านแรกในพระพุทธศาสนา) และ ได้บำเพ็ญกุศล มามากมายในอดีตชาติ จึงมีโอกาสได้ทำกุศลที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ แม้ท่านจะไม่ได้บรรลุ มรรคผลในชาตินั้น ผลของกุศลนั้นก็คงทำให้ท่านอยู่ในสุคติภูมิ และพร้อมที่บรรลุ มรรคผลในกาลภายหน้า
เจริญกุศลกับผู้ใด ก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับได้เจริญกุศลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าค่ะ
ขอกราบอนุโมทนา
ขออนุญาตคุณกาญจนาเพิ่มเติมสักเล็กน้อยตามที่ได้เคยอ่านมานานมากแล้วครับ
สุชาตา นี้เป็นชื่อของสตรีหลายท่านที่ปรากฏต่างกาลสมัยในพระพุทธศาสนาคือ
ผู้หนึ่งเป็นพระอัคคสาวิกาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โสภิตะ,
ผู้หนึ่งเป็นพระอัคคสาวิกาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี,
ผู้หนึ่งเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ,
ผู้หนึ่งเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ,
ผู้หนึ่งเป็นธิดาของอสูร พระมเหสีของท้าวสักกเทวราชจอมเทพ,
ผู้หนึ่งเป็นอุบาสิกาชาวญาติกา (บางตำราว่าณาติกา) ,
ผู้หนึ่งเป็นธิดาของเศรษฐีเมืองสาเกต ได้ฟังพระธรรมและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ขอ
อนุญาตจากสามี ได้บวชเป็นพระเถรีในพระพุทธศาสนา
ผู้หนึ่งเป็นน้องสาวคนเล็กสุดของมหาอุบาสิกาวิสาขา ดื้อรั้น ชอบดูถูกเหยียดหยาม แต่ง
งานกับลูกชายมหาอุบาสกอนาถบิณฑิกเศรษฐี วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปเรือนท่านอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี นางกำลังด่าสาวใช้ ......เป็นผู้ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแสดงภริยา ๗ จำพวก
สุชาดาที่คุณกาญจนานำมากล่าวในเรื่องนี้ เป็นธิดาของนายบ้านเสนานิคมชื่อเสนานี เป็น
มารดาของพระยสะ และเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนไตรสามเป็นคนแรกในพระพุทธศาสนา ขอ
รวบรัดเอาจากตอนที่พระยสะออกจากบ้าน เพราะความเบื่อหน่ายต่อสิ่งแวดล้อมที่ขัดข้อง มุ่ง
หน้าไปยังป่าอิสิปตนะ ปากก็พร่ำว่า ที่นี่วุ่นวายหนอๆ พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณาเห็น
เธอมาแต่ไกล ตรัสเรียกว่า มานี่เถิดยสะ ที่นี่ไม่วุ่นว่าย เธอได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และ
พระองค์ทรงแสดงพระธรรมโปรดจนได้ดวงตาเห็นธรรม บิดาของท่านออกตามหา ก็ได้ฟัง
พระธรรม แล้วได้แสดงตนเป็นเตวาจิกอุบาสกคนแรก และได้นิมนต์พระพุทธเจ้าเพื่อรับ
ภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ภายหลังภัตตกิจ พระพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนา นางสุชาดากับ
ภริยาของพระยสะได้เป็นพระโสดาบัน และได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกาเป็นคนแรก สมความดัง
มโนปณิธานที่ได้กระทำไว้ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากที่แต่งงานแล้ว นางได้ย้ายไปอยู่ที่พาราณสี นางคง
กลับไปเยี่ยมบ้านบิดา และแก้บนตอนที่ลูกชายโตแล้ว ก็ขนาดพระยสะแต่งงานแล้ว ผิดถูก
ประการใด ขอฝากท่านผู้รู้ช่วยแก้ไขด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง