จิตที่ฝึกแล้ว [ฝึกฝนด้วยอริยมรรค ๔]

 
เมตตา
วันที่  7 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14516
อ่าน  6,083

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑

ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุํ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ วาริโชว ถเล ขิตฺโต โอกโมกตอุพฺภโต ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ มารเธยฺยํ ปหาตเว ฯ

" ชนผู้มีปัญญาย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรง ดุจช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น จิตนี้ (อันพระโยคาวจรยกขึ้นจากอาลัย คือ กามคุณ ๕ แล้ว ซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน) เพื่อละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันพรานเบ็ดยกขึ้นจาก (ที่อยู่) คือน้ำ แล้วโยนไปบนบก ดิ้นรนอยู่ฉะนั้น."

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 403

ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน ยตฺถ กามนิปาติโน จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ. "การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมดาเร็ว มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี (เพราะว่า) จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้.

แก้อรรถ บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ในพระคาถานั้น (ดังต่อไปนี้) . ธรรมดาจิตนี้ อันบุคคลย่อมข่มได้โดยยาก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทุนฺนิคฺคหํ. จิตนี้ย่อมเกิดและดับเร็ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ลหุ ซึ่งจิตอันข่มได้ยาก อันเกิดและดับเร็วนั้น. บาทพระคาถาว่า ยตฺถ กามนิปาติโน ความว่า มักตกไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั่นแล. จริงอยู่ จิตนี้ ย่อมไม่รู้จักฐานะอันตนควรได้ หรือฐานะอันไม่ควรได้,ฐานะอันสมควรหรือฐานะอันไม่สมควรย่อมไม่พิจารณาดูชาติ ไม่พิจารณาดูโคตร ไม่พิจารณาดูวัย; ย่อมตกไปในอารมณ์ที่ตนปรารถนาอย่างเดียว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า " มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่." การฝึกจิตเห็นปานนี้นั้นเป็นการดี คือความที่จิตอันบุคคลฝึกฝนด้วยอริยมรรค ๔ ได้แก่ ความที่จิตอันบุคคลทำแล้วโดยประการที่จิตสิ้นพยศได้ เป็นการดี. ถามว่า " เพราะเหตุไร? " แก้ว่า " เพราะว่า จิตนี้อันบุคคลฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้คือว่า จิตที่บุคคลฝึกแล้ว ได้แก่ทำให้สิ้นพยศ ย่อมนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่มรรคผล และสุขคือพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์."

๓. สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ. "ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก มันตกไปในอารมณ์ตามความใคร่, (เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้เป็นเหตุนำสุขมาให้."พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 416

๔. ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา. "ชนเหล่าใด จักสำรวมจิต อันไปในที่ไกล เที่ยวไปดวงเดียวไม่มีสรีระ มีถ้ำเป็นที่อาศัย ชนเหล่านั้น จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูรงฺคมํ เป็นต้น (พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้) ก็ชื่อว่าการไปและการมาของจิต โดยส่วนแห่งทิศมีทิศบูรพาเป็นต้น แม้ประมาณเท่าใยแมลงมุม ย่อมไม่มี,จิตนั้นย่อมรับอารมณ์แม้มีอยู่ในที่ไกล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทูรงฺคมํ. อนึ่งจิต ๗-๘ ดวง ชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นเนื่องเป็นช่อโดยความรวมกันในขณะเดียวย่อมไม่มี,ในกาลเป็นที่เกิดขึ้น จิตย่อมเกิดขึ้นทีละดวงๆ, เมื่อจิตดวงนั้นดับแล้ว,จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นทีละดวงอีก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เอกจรํ. สรีรสัณฐานก็ดี ประเภทแห่งสีมีสีเขียว เป็นต้น เป็นประการก็ดีของจิต ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อสรีรํ. ถ้ำคือมหาภูต ๔ ชื่อว่า คูหา, ก็จิตนี้อาศัยหทัยรูปเป็นไปอยู่เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า คุหาสยํ. สองบทว่า เย จิตฺตํ ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือเป็นบุรุษหรือสตรี เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เมื่อไม่ให้กิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะความฟั่นเฟือนแห่งสติ ชื่อว่าจักสำรวมจิต คือจักทำจิตให้สงบ ได้แก่ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน. บาทพระคาถาว่า โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ความว่า ชนเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าจักพ้นจากวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันนับว่าเป็นเครื่องผูกแห่งมาร เพราะไม่มีเครื่องผูกคือกิเลส.

ข้อความทั้งหมดยกมาจาก พระไตรปิฎกฉบับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อศึกษาด้วยดีแล้วจะพบว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมไม่ตรัสขัดแย้งกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 28 ธ.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ