อินเดีย ... อีกแล้ว 17 คยาสีสะ

 
kanchana.c
วันที่  7 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14519
อ่าน  3,321

คยาสีสะ

ไม่ยอมออกจากเมืองคยาเสียที ทั้งๆ ที่คราวนี้ไปถึงตอนบ่ายแล้วค้างแค่คืนเดียว ตอน เช้าก็ต้องออกจากคยาแต่เช้า แต่อยากจะเก็บรายละเอียดของสถานที่สำคัญทางพระ พุทธศาสนาที่มีอยู่ในเมืองคยาให้หมด แม้จะไม่ได้ไปเห็นก็ตาม เพราะหวังไว้ว่า เมื่อหมดภาระหน้าที่การงานแล้ว จะไปเที่ยวคยาอย่างละเอียดอีกครั้ง

แต่อาจจะเป็นแค่ความหวัง เพราะเมื่อหมดภาระหน้าที่การงานแล้ว ก็มีภาระเกี่ยวกับ การดูแลสังขารให้เป็นไปด้วยดี ด้วยการไปหาหมอหลายสาขา ทั้งตา จมูก ฟัน ความดัน ฯลฯ เป็นประจำตามนัด ซึ่งความจริงแล้วโรคทั้งหลายทางกายที่ดูเหมือนมากมายนั้น ก็ยังน้อยกว่าโรคทางใจมากกว่าหลายพันเท่า และทำให้เกิดความทุกข์มากกว่าโรค ทางกายด้วย แต่ก็ยังไม่วิตกกังวลอยากจะรักษาให้หายเท่ากับโรคทางกายซึ่งมีสาเหตุ จากอิริยาบถไม่สม่ำเสมอบ้าง ธาตุทั้ง ๔ ไม่สม่ำเสมอบ้าง อุตุไม่สม่ำเสมอบ้าง เกิดจาก จิตบ้าง และเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำมาแล้วบ้าง บางโรคจึงรักษาหาย บางโรคก็รักษาไม่หาย ส่วนโรคทางใจนั้นมีสาเหตุจากความไม่รู้ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการฟัง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ดีแล้ว แม้จะเข้าใจเพียงเล็กน้อย โรคทางใจก็ ยังเบาบางลง ถ้าสาเหตุคือความไม่รู้นั้นหมดไป โรคทางใจก็หายขาด ไม่กลับมาเกิดอีกเลย


เขาพรหมโยนิ (กำเนิดแห่งพรหม)

(ภาพจากวิกิพีเดีย)

คยาสีสะ อยู่ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันนี้เรียกว่า เขาพรหมโยนิ (กำเนิดแห่งพรหม) เป็นที่อยู่ของชฎิลผู้บูชาไฟ ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ และคยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปนตนมฤคทายวันและสาวกอื่นรวม ๖๐ รูปแล้ว ต่อจากนั้น ๙ เดือน พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า จะต้องอาศัยพระเจ้า พิมพิสารในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากที่สะสม บารมีมาเต็มเปี่ยมที่จะเข้าใจพระธรรมที่ลึกซึ้งนี้ จึงเสด็จจาริกจากเมืองพาราณสีกลับ มาที่แคว้นมคธ ระหว่างทางได้โปรดภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ คนที่กำลังหาสตรีที่หายไป ด้วยคำถามว่า “การหาสตรีกับหาตน อย่างไหนประเสริฐกว่า” ท่านทั้ง ๓๐ คนนั้นมี ปัญญาเกิดสติระลึกได้ว่า หาตนประเสริฐกว่า จึงนั่งลงฟังธรรม แล้วบรรลุเป็นพระ อริยบุคคล

จากนั้นพระองค์ก็เสด็จมาที่คยาสีสะ โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ทรงแสดง “อาทิตตปริยาย สูตร” ที่ว่าด้วยอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ เป็นของร้อนด้วยไฟกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ และร้อนด้วยทุกข์ คือ การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศกรำพัน ความแห้งใจ ซึ่งตรงกับอัธยาสัยที่สะสมการ บูชาไฟของท่าน ทั้งหมดรวม ๑,๐๐๓ รูปก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

จะเห็นว่าทุกคนสะสมทั้งปัญญาและความเห็นผิด ท่านชฎิลทั้งหมดบูชาไฟเพราะ สะสมความเห็นผิด แต่เมื่อถึงเวลาได้ฟังพระธรรม ปัญญาที่สะสมมาก็ทำให้รู้ แจ้งอริยสัจธรรมได้ ดังนั้นไม่ควรประมาทการสะสม ไม่ว่าจะเป็นปัญญาและความเห็น ผิด แม้จะทีละน้อยๆ ก็ให้ผลได้ เหมือนใส่เกล็ดเกลือลงไปในแม่น้ำคงคา อาจจะไม่เห็น ว่า รสของน้ำนั้นเปลี่ยนไป แต่วันหนึ่งเมื่อไม่หยุดใส่เกลือ รสของน้ำก็เปลี่ยนเป็นเค็ม ได้ในที่สุด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
jangthi
วันที่ 8 ธ.ค. 2552

หนูเห็นด้วยว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากเลยค่ะในการสะสมความดีแม้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ย่อมส่งผลอันยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้นก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประมาทในการสะสมความดีต่อๆ ไป ซึ่งก็เหมือนกับความชั่ว ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าเล็กน้อยไม่เป็นไร หรือคิดว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือนร้อนมากมายนัก หรือเราอาจจะมีเหตุผลในการกระทำความชั่วของเราอีกสักเท่าใด แต่ความชั่วก็คือความชั่วอยู่ดี

กราบอนุโมทนาค่ะอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 9 ธ.ค. 2552

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
saifon.p
วันที่ 9 ธ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คุณ
วันที่ 10 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Yongyod
วันที่ 10 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 17 ธ.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wirat.k
วันที่ 25 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ