อโยฆรชาดก
๑๔. อโยฆรชาดก (ว่าด้วยอำนาจของมัจจุราช) พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๖๑ หน้าที่ ๒๗๓ - ๒๗๙----------------------------------------
[๒๒๖๑] (อโยฆรกุมารตรัสว่า) สัตว์ถือปฏิสนธิกลางคืนก็ตาม กลางวันก็ตาม ย่อมอยู่ในครรภ์มารดาก่อน
สัตว์นั้น ย่อมไปสู่ความเป็นกลละเป็นต้น ย่อมไม่ย้อนกลับมาสู่ความเป็นกลละเป็นต้นอีก เหมือนเมฆที่ตั้งขึ้นแล้ว ย่อมล่องลอยไป ฉะนั้น. [๒๒๖๒] นรชนทั้งหลาย จะสู้รบกับชรา พยาธิ มรณะด้วยกำลังพล ไม่ได้ เพราะถึงอย่างไร ก็ต้องแก่ และ ต้องตายเพราะว่าชีวิตของสัตว์ทั้งมวลนี้ ถูกความเกิดและความแก่เข้าไปประทุษร้ายเบียดเบียน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๖๓] พระราชาผู้เป็นอธิบดีในรัฐทั้งหลาย ย่อมจะข่มขี่
ราชศัตรูผู้มีเสนาอันประกอบด้วยองค์ ๔ ล้วนมีรูปร่างน่า
สะพรึงกลัว เอาชัยชนะได้ แต่ไม่สามารถจะชนะเสนา
แห่งมัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า
จะบวชประพฤติธรรม.
[๒๒๖๔] พระราชาบางพวก แวดล้อมด้วยพลม้า พลรถ และพลเดินเท้า ย่อมพ้นจากเงื้อมมือของข้าศึกได้ แต่ก็
ไม่อาจจะพ้นจากสำนักของมัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๖๕] พระราชาทั้งหลายผู้กล้าหาญ ย่อมหักค่ายทำลายพระนคร แห่งราชศัตรูให้ย่อยยับได้ และกำจัดมหาชนได้ด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าแต่ไม่สามารถจะหักรานเสนาแห่งมัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๖๖] คชสารทั้งหลายที่ตกมัน มีมันเหลวแตกออกจากกระพอง ย่อมย่ำยีนครทั้งหลาย และเข่นฆ่าประชาชนได้ แต่ไม่สามารถจะย่ำยีเสนาแห่งมัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าจะบวช ประพฤติธรรม. [๒๒๖๗] นายขมังธนูทั้งหลาย แม้มีมืออันได้ฝึกฝนมาดีแล้ว เป็นผู้มีปัญญา สามารถยิงขึ้นให้ถูกได้ในที่ไกล ยิงได้แม่นยำไม่ผิดพลาด ก็ไม่สามารถ จะยิงต่อต้านมัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๖๘] สระทั้งหลาย และมหาปฐพี กับทั้งภูเขาราวไพร ย่อมเสื่อมสิ้นไป สังขารทั้งปวงนั้น จะตั้งอยู่นานสักเท่าไร ก็ย่อมเสื่อมสิ้นไป เพราะสังขารทั้งปวงนั้น ครั้นถึงกาลกำหนดแล้ว ย่อมจะแตกทำลาย ไป เพราะเหตุ-นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๖๙] แท้จริงชีวิตของสัตว์ทั้งมวล ทั้งที่เป็นสตรีและบุรุษในโลกนี้ เป็นของหวั่นไหว เหมือนแผ่นผ้าของนักเลงสุรา และต้นไม้เกิดใกล้ฝั่ง เป็นของหวั่นไหว
ไม่ยั่งยืนฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๐] สัตว์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ทั้งปานกลาง ทั้งหญิงทั้งชาย ย่อมเป็นผู้มีสรีระแตกทำลายไป เหมือนกับผลไม้ที่หล่นแล้วจากขั้ว ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้า-พระพุทธเจ้า จึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๑] พระจันทร์อันเป็นดาราแห่งดวงดาว เป็นฉันใด วัยนี้หาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะส่วนใดล่วงไปแล้ว ส่วนนั้นเป็นอันล่วงไปแล้ว ในบัดนี้ อนึ่ง ความยินดีในกามคุณของคนแก่ชราแล้วย่อมไม่มี ความสุขจะมีมาแต่ไหน เพราะ-เหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๒] ยักษ์ก็ดี ปีศาจก็ดี หรือเปรตก็ดี โกรธเคืองแล้วย่อมเข้าสิงมนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถจะเข้าสิงมัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๓] มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมกระทำการบวงสรวงยักษ์ ปีศาจ หรือเปรตทั้งหลายผู้โกรธเคืองแล้วได้ แต่ไม่สามารถ
จะบวงสรวงมัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า
จึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๔] พระราชาทั้งหลาย ทรงทราบโทษผิดแล้ว ย่อมลงอาชญาผู้กระทำความผิด ผู้ประทุษร้ายต่อราชสมบัติ และผู้เบียดเบียนประชาชน ตามสมควร แต่ไม่สามารถลงอาชญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๕] ชนทั้งหลายผู้กระทำความผิด ฐานประทุษร้ายต่อพระราชาก็ดี ผู้ประทุษร้ายต่อราชสมบัติก็ดี ผู้เบียดเบียนประชาชนก็ดี ย่อมจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่หาทำมัจจุราชให้ผ่อนปรนกรุณาปราณีได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๖] มัจจุราชมิได้มีความเกรงใจเลยว่าผู้นี้เป็นกษัตริย์ ผู้นี้เป็นพราหมณ์ ผู้นี้มั่งคั่ง ผู้นี้มีกำลัง ผู้นี้มีเดชานุภาพ ย่อมย่ำยีทั่วไปหมด เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๗๗] ราชสีห์ก็ดี เสือโคร่งก็ดี เสือเหลืองก็ดี ย่อมข่มขี่เคี้ยวกินสัตว์ที่ดิ้นรนอยู่ได้ แต่ไม่สามารถจะเคี้ยวกิน
มัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าจะบวช
ประพฤติธรรม. [๒๒๗๘] นักเล่นกลทั้งหลาย เมื่อทำมายากล ณ ท่ามกลาง-สนาม ย่อมลวงนัยน์ตาประชาชนในที่นั้นๆ ให้หลงเชื่อได้แต่ไม่สามารถจะลวงมัจจุราชให้หลงเชื่อได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม.[๒๒๗๙]อสรพิษ ที่มีพิษร้าย โกรธขึ้นมาแล้วย่อมขบกัดมนุษย์
ให้ถึงตายได้ แต่ไม่สามารถจะขบกัดมัจจุราชให้ตายได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าจะบวชประพฤติธรรม.[๒๒๘๐] อสรพิษโกรธขึ้นแล้วขบกัดผู้ใด หมอทั้งหลาย ย่อมถอนพิษร้ายนั้นได้ แต่จะถอนพิษของผู้ถูกมัจจุราชประทุษร้ายหาได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.[๒๒๘๑] แพทย์ผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ คือ แพทย์ธรรมมนตรี แพทย์เวตตรุณะ แพทย์โภชะ อาจจะกำจัดพิษพระยานาคได้ แต่แพทย์เหล่านั้น ต้องทำกาลกิริยานอนตาย เพราะเหตุนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม. [๒๒๘๒] วิชาธรทั้งหลาย เมื่อร่ายอาคม ชื่อโฆรมนต์ ย่อมหายตัวไปได้ด้วยโอสถทั้งหลาย แต่จะหายตัวไม่ให้-มัจจุราชเห็นไม่ได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงคิดว่า จะบวชประพฤติธรรม.[๒๒๘๓] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคล
ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ ในธรรมที่
ประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ. [๒๒๘๔] สภาพทั้งสองคือ ธรรม และอธรรม มีวิบาก-ไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ.จบอโยฆรชาดกที่ ๑๔ .
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป
อโยฆรชาดก (ว่าด้วยอำนาจของมัจจุราช) ------------------------------------------- อโยฆรชาดก เป็นชาดกที่แสดงถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ที่เกิดเป็นอโย-ฆรกุมาร (กุมารผู้เกิดในเรือนที่ทำด้วยเหล็ก) อโยฆรกุมาร สลดพระทัย ได้ตรัสโทษของการอยู่ในครรภ์พระมารดาว่าเหมือนอยู่ในนรก และตัวเองเมื่อคลอดจากครรภ์พระมารดาแล้ว ยังต้องถูกกักขังให้มีชีวิตและศึกษาศิลปวิทยาอยู่ในเรือนเหล็กนั้นเป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี เหมือนอยู่ในนรกอีกเช่นกัน, เป็นผู้ไม่ปรารถนาอยู่ครองราชสมบัติ เพราะทรงเห็นภัยแห่งความตายซึ่งทุกคนไม่สามารถหลีกหนีพ้นได้ ไม่มีใครสามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราชไปได้ ปรารถนาจะออกบวชประพฤติธรรม จนกว่าความแก่ความเจ็บ และความตายจะไม่มาถึง จึงได้ตรัสพระคาถา รวม ๒๔ พระคาถา (ดังที่ปรากฏในพระสูตร) ให้พระราชบิดาได้ทรงสดับ แล้วทูลลาเสด็จออกบรรพชา และในที่สุด ทั้งพระบิดา พระมารดา อำมาตย์ และ ชาวเมืองเป็นจำนวนมาก ก็ได้ออกบวชตามพระโพธิสัตว์ ด้วย แสดงให้เห็นว่า มิใช่เฉพาะในชาติสุดท้ายเท่านั้น ที่พระองค์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่) แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยออกมหาภิเนษกรมณ์เหมือนกัน. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...