แตกนิกาย
หลังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจัาปรินิพพาน ในร้อยแห่งปีที่ ๒ คือ ภายในพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปี มี ๑๗ นิกาย ที่แตกแยกจากเถรวาท ดังแสดงในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 80] พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้า 5-7
ก็ภิกษุวัชชีบุตร มีประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป ถูกพระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายข่มขู่แล้ว คือติเตียนแล้ว จึงแสวงหาพวก ครั้นได้พวกที่เป็นทุพพลวะ อันสมควรแก่ตนก็จัดตั้งสำนักตระกูลอาจารย์ใหม่ชื่อว่า มหาสังฆิกะ แปลว่า พวกมาก ตระกูลอาจารย์ ๒ พวกอื่นอีกเกิดขึ้น คือ โคกุลิกะ และเอกัพโยหาริกะ ซึ่งแตกแยกมาจากตระกูลอาจารย์มหาสังฆิกะนั้น. ตระกูลอาจารย์ ๒ พวกอื่นอีก คือบัญญัตติวาทะ และพหุลิยะ ซึ่งมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า พหุสสุติกะ แตกแยกมาจากนิกายโคกุลิกะ. อาจริยวาท อื่นอีกชื่อว่า เจติยวาทเกิดขึ้นแล้วในระหว่างนิกายพหุลิยะนั้น นั่นแหละ. ในร้อยแห่งปีที่ ๒ คือ ภายในพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปี ตระกูลอาจารย์ทั้ง ๕ ตระกูลเกิดขึ้นจากตระกูลอาจารย์มหาสังฆิกะด้วยประการฉะนี้. ตระกูลอาจารย์ทั้ง ๕ เหล่านั้น รวมกับมหาสังฆิกะเดิม ๑ ก็เป็น ๖ ตระกูลด้วยกัน.
ในร้อยแห่งปีที่ ๒ นั้น นั่นแหละ อาจริยวาท ทั้ง ๒ คือ มหิสาสกะ และวัชชีปุตตกะเกิดขึ้น แตกแยกมาจากเถรวาท. ในบรรดาอาจริยวาททั้ง ๒ นั้น อาจริยวาททั้ง ๔ คือ :- ธัมมุตตริยะ ๑ ภัทรยานิกะ ๑ ฉันนาคาริกะ ๑ สมิติยะ ๑ เกิดขึ้นเพราะแตกแยกมาจากนิกายวัชชีปุตตกะ. ในร้อยแห่งปีที่ ๒ นั่น นั่นแหละ อาจริยวาท ๒ พวก คือ :- สัพพัตถิกวาทะ และ ธัมมคุตติกะ เกิดขึ้นเพราะการแตกแยกมาจากตระกูลอาจารย์มหิสาสกะอีก. นิกายชื่อว่า กัสสปิกะเกิดขึ้นเพราะแตกแยกจากตระกูล สัพพัตถิกวาทะอีก. เมื่อนิกายกัสสปิกะทั้งหลายแตกกันแล้วก็เป็นเหตุให้นิกายชื่อว่า สังกันติกะอื่นอีกเกิดขึ้น เมื่อนิกายสังกันติกะทั้งหลายแตกกันแล้ว นิกายชื่อว่า สุตตวาทะก็เกิดขึ้น. อาจริยวาท ๑ นิกายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะแตกแยกมาจากเถรวาทอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้. อาจริยวาท ๑๑ นิกายเหล่านี้รวมกับเถรวาทเดิมก็เป็น ๑๒ นิกาย.
ในร้อยแห่งปีที่ ๒ คือ ภายในพระพุทธศักราช ๒๐๐ ปี อาจริยวาทคือ ลัทธิแห่งอาจารย์ ทั้งหมดรวม ๑๘ นิกาย คือ ๑๒ นิกายที่แยกมาจากเถรวาทเหล่านี้ และนิกายอาจริยวาท ๖ ที่แตกแยกมาจากตระกูลอาจารย์มหาสังฆิกะทั้งหลาย ฉะนี้แล.
คำว่า นิกาย ๑๘ นิกายก็ดี ตระกูลอาจารย์ ๑๘ ตระกูลก็ดีเป็นชื่อของนิกายที่กล่าวมาแล้วเหล่านั้น นั่นแหละ. อนึ่งบรรดานิกาย ๑๘ นิกายเหล่านั้น ๑๗ นิกาย บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นนิกายที่แตกแยกกันมา ส่วนเถรวาท บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นนิกายที่ไม่แตกกัน.