ทบทวนเรื่องของปัจจัย [๑๑]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ. ขณะที่อ่านพระไตรปิฎก กับขณะที่อ่านหนังสือจิตวิทยาขณะนั้น รู้สึกว่า จิตในขณะนั้น ไม่มีอะไรต่างกันเลยครับ
สุ. จิตวิทยา พูดเรื่องธรรมะอะไร ที่จะทำให้เข้าใจ
ถ. เรื่องจิตวิทยา เขาก็พูดเรื่องจิตใต้สำนึก อะไรต่อไรพวกนี้ล่ะครับ
สุ. เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นจิตของเรา
ถ. ใช่ครับ
สุ. แล้วถูกหรือผิด
ถ. ถ้าตามความศึกษา ก็ผิดครับ
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียดจริงๆ นะคะเพราะว่าจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน แล้วก็มีระดับ หลายขั้นทีเดียวแม้แต่จิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็มีหลายระดับ หลายขั้น ตั้งแต่อย่างอ่อนที่สุด จนกระทั่งถึงคมกล้าที่สุด เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา จึงต้องฟังเรื่องจิตเหล่านี้อย่างละเอียด แล้วก็ต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะรู้ถึงความละเอียดในเรื่องของจิต ที่ได้ยินได้ฟังด้วย ท่านผู้ฟังชอบอ่านหนังสือประเภทไหน ตามร้านหนังสือ หรือว่าที่บ้านของท่าน มีตั้งแต่หนังสือพิมพ์ ไปจนกระทั่งหนังสือรายสัปดาห์ รายเดือนมีหนังสือประเภทต่างๆ เป็นวิชาการต่างๆ เป็นเรื่องบันเทิงต่างๆ แล้วแต่ฉันทะ ใช่ไหม ขณะนั้น เป็นอกุศล เพราะว่า จิตขณะนั้น ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แต่แม้ในขณะที่เพียงจะอ่านหนังสือนี้นะคะ มีหนังสือหลายประเภท หลายเล่ม โลภมูลจิตเกิด จึงต้องการที่จะอ่าน ซึ่งก็แล้วแต่ฉันทะของท่าน ที่สะสมมาในทางใดทางหนึ่ง ที่เป็นอธิปติ ในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เลือกหนังสือที่จะอ่าน ตามความพอใจของแต่ละท่าน นี้ก็เป็นชีวิตประจำวัน ตามความเป็นจริง
ซึ่งถ้าศึกษาพระธรรมแล้ว สติเกิดระลึกได้ และถ้ามีหนังสือ ๒ เล่ม จะอ่านเล่มไหน ขณะนั้น จะเห็นลักษณะของ ฉันทาธิปติซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่กำลังอ่านด้วยความเพลิดเพลินพอใจ หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนะคะก็มีหลายเรื่อง หลายหน้า ท่านเปิดหน้าไหนก่อน บางท่าน อาจจะชอบโหราศาสตร์ ใช่มั้ย พอเปิดหนังสือพิมพ์ ก็ดูทันทีว่าวันนี้เป็นยังไง ในขณะนั้น จิตเป็นไปตามอธิปติปัจจัยคือ ตามฉันทะ ตามความพอใจของท่าน เพราะฉะนั้นนี้ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะเห็นว่าสำหรับ "อกุศลจิต" คือ โลภมูลจิต มีฉันทะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ มีวิริยะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ หรือว่า มีจิตตะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ สำหรับ "โทสมูลจิต" ก็มีอธิปติปัจจัยด้วย เพราะเหตุว่า ขณะที่เป็นโทสมูลจิต มีฉันทะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ มีวิริยะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ หรือมีจิตตะเป็นอธิปติปัจจัยก็ได้ แต่ว่าทางฝ่าย "อกุศล" นั้น ไม่มีสามารถที่จะมี วิมังสา คือ ปัญญา เป็นอธิปติปัจจัยได้
หลายท่าน ก็ยังคงมีความเห็นว่าต้องโกรธ จึงจะถูก จึงจะควร จึงจะดี ขณะนั้น เป็นเพราะมีฉันทะเป็นอธิปติปัจจัย คือ มีความพอใจ เห็นว่าควรจะโกรธ ในขณะนั้นมีในชีวิตประจำวัน บางคนไม่โกรธคนอื่น แต่ก็ถูกบอกว่าต้องโกรธสิไม่ โกรธได้เหรอ ใช่ไหม ในขณะนั้น จิตเป็นสสังขาริกก็ได้ ถ้าเกิดโกรธขึ้น เป็นฉันทาธิปติก็ได้ หากมีความเห็นว่าควรจะต้องโกรธหรือ (จิตเป็นสสังขาริก) ถูกชักจูงให้มีความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับ อกุศลจิต ๑๒ ประเภทที่จะเป็น "สหชาตาธิปติปัจจัย" ได้นั้น มี ๑๐ ประเภท เว้นโมหมูลจิต ๒ ประเภท
มีข้อสงสัยอะไร ในเรื่องของอกุศลจิต ในชีวิตประจำวันสำหรับ โมหมูลจิต ไม่มีข้อสงสัยหรือคะว่าทำไม ถึงไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย
มีใครอยากจะพอใจในโมหะไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ฉันทเจตสิก ไม่เกิดกับโมหมูลจิตทั้ง ๒ ประเภท ต้องมี วิริยะ ความพากเพียรอะไรมั้ยคะที่จะให้เป็นโมหะ คือ ที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่มี เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิก ก็ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยคือ ไม่เกิดกับโมหมูลจิตทั้ง ๒ ประเภทด้วย
ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๖
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขออนุโมทนา