อริยสัจ 4 ว่าด้วยวินิจฉัยโดยประเภทมีลักษณะเป็นต้น [วิภังค์] .
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 297
อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เป็นของแท้ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจ (สัจจะอันประเสริฐ) ดังนี้ พึงทราบวินิจฉัยในสัจจะนี้โดยวิเคราะห์เพียงเท่านี้
ว่าด้วยวินิจฉัยโดยประเภทมีลักษณะเป็นต้น
พึงทราบวินิจฉัยโดยประเภทมีลักษณะเป็นต้นอย่างไร จริงอยู่ ในสัจจะ ๔ เหล่านี้
ทุกขสัจจะ
มีการเบียดเบียน เป็นลักษณะ
มีความให้เร่าร้อน เป็นรส
มีปวัตติ เป็นปัจจุปัฏฐาน
สมุทยสัจจะ
มีเหตุเป็นแดนเกิด เป็นลักษณะ
มีการไม่เข้าไปตัด เป็นรส
มีปลิโพธ เป็นปัจจุปัฏฐาน
นิโรธสัจจะ
มีความสงบ เป็นลักษณะ
มีการไม่จุติ เป็นรส
มีการไม่มีนิมิต เป็นปัจจุปัฏฐาน
มรรคสัจจะ
มีการนำออก เป็นลักษณะ
มีการประหาณกิเลส เป็นรส
มีวุฏฐานะ (คือการออก) เป็นปัจจุปัฏฐาน
อีกอย่างหนึ่ง สัจจะ ๔ นี้
มีปวัตติ (การเป็นไป) มีปวัตตนะ (เหตุให้เป็นไป) มีนิวัตติ (ความกลับ) มีนิวัตตนะ (เหตุให้กลับ) เป็นลักษณะโดยลำดับ และมีสังขตะ (คือธรรมชาติอันปัจจัยปรุงแต่ง) มีตัณหา มีอสังขตะ (คือธรรมชาติอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง) มีทัสสนะ (การเห็น) เป็นลักษณะตามลำดับเหมือนกันแล