รูปธรรม - มหาภูตรูป ๔ รูป และ อุปาทาย ๒๔ ประเภท

 
พุทธรักษา
วันที่  10 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14607
อ่าน  8,848

ขอนอบน้อมแด่พระผู้พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปธรรม (รูปปรมัตถ์)

รูปแต่ละรูป ไม่เกิดตามลำพัง เพราะฉะนั้น รูปหนึ่งกลุ่ม (กลาป) ที่เล็กที่สุด จะต้องมีรูปแกิดร่วมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ ประเภท ซึ่งเกิดร่วมกัน (ดับพร้อมกัน) ภาษาบาลี เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ รูป และ อุปาทายรูป ๔

รูป อุปาทายรูป

อุป (เข้าไป) + อาทาย (ถือเอา อาศัย) + รูป (รูป) รูป ที่เข้าไปอาศัยมหาภูตรูป หมายถึง รูป ๒๔ ประเภท (นอกเหนือจากมหาภูตรูป ๔) ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามลำพังได้ เพราะจะต้องอาศัยมหาภูตรูปในการเกิดขึ้น พร้อมกัน มหาภูตรูป ๔ จึงเป็นที่อาศัยของ อุปาทายรูป ๒๔ เปรียบเหมือนกับแผ่นดิน อันเป็นที่อาศัยรองรับต้นไม้ หรือ บ้านเรือน อุปาทายรูป ๒๔ จะเกิดไม่พร้อมกันทั้งหมด เพราะว่า ขึ้นอยู่กับ สมุฏฐานที่เป็น "ปัจจัย" ให้เกิด รูปกลาปนั้นๆ และขึ้นอยู่กับว่า อุปาทายรูปนั้นๆ เกิดใน รูป กลาปไหน (กลาป = กลุ่มของรูป)

แต่ที่แน่นอน คือ อวินิพโภครูป ๘ รูป ต้องเกิดดับ พร้อมกัน และมีอยู่เป็นพื้นฐานในกลุ่มของรูป (กลาป) ทุกกลุ่ม

รูปที่เป็น อุปาทายรูป ได้แก่ จักขุปสาท โสตประสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท และ รูปที่เป็นอารมณ์ ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น (อุปาทายรูปทั้งหมด มี ๒๔ ประเภท)

อวินิพโภครูป ๘ ประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ และ อุปาทายรูป ๔

มหาภูตรูป ๔ (รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน) ได้แก่

ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง

อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่มีลักษณะเอิบอาบหรือเกาะกุม

เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่มีลักษณะร้อนหรือเย็น

วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่มีลักษณะไหวหรือตึง

มหาภูตรูป ๔ นี้ ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และมหาภูตรูป ๔ นี้ เป็น "ปัจจัย" โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูป ซึ่ง รูปอีก ๔ รูป ที่เกิดดับพร้อมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน (ที่เล็กที่สุด) คือ อุปาทายรูป ๔

อุปาทายรูป ๔ ได้แก่

วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏได้เฉพาะทางตา เท่านั้น

คันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏได้ทางจมูก เท่านั้น

รโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏได้ทางลิ้น เท่านั้น

โอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปประเภทอื่น

รูป ๘ รูปนี้ แยกกันไม่ได้เลย และเป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ที่เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว และจะมีแต่มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้นโดยไม่มี อุปาทายรูป ๔ (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) นี้ ไม่ได้เลย

ลักษณะต่างๆ ของรูปธรรมสามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ รูปธรรม เป็นสภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เพราะว่า "มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้" มีการบัญญัติ (สมมติ) เรียก รูปธรรมต่างๆ มากมายเช่น ร่างกาย หรือ โต๊ะ เป็นต้น แต่ว่า ทั้งร่างกาย และ โต๊ะ มีลักษณะแข็งซึ่งปรากฏให้รู้ได้ ด้วยการกระทบสัมผัสทางกายลักษณะแข็ง หรือสภาพธรรมที่แข็งนั้น เหมือนกันและ เป็นปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ "ร่างกาย" และ "โต๊ะ" เป็นต้น นั้น ไม่มีจริง ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะว่า เป็นสมมติบัญญัติ

ตามปกติ เราเข้าใจว่า ร่างกายดำรงอยู่และ ยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา เป็นตัวตนของเราความจริงแล้ว ที่เรียกว่า "ร่างกาย" นั้นเป็นเพียงรูปต่างๆ ที่มาประชุมรวมกัน และเกิดดับอยู่ตลอดเวลาการที่จะประจักษ์แจ้ง "ลักษณะของรูป" ตามความเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน เกิดขึ้น รู้ "ลักษณะที่ต่างกันของรูป" ในขณะที่รูป ประเภทใด ประเภทหนึ่ง กำลังปรากฏ

ข้อความบางตอนจากหนังสือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน โดย Nina Van Gorkorm แปลโดย อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม เพิ่มเติมรายละเอียดบางตอน จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปฯ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ups
วันที่ 11 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hadezz
วันที่ 12 ธ.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
คุณ
วันที่ 12 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ