อารมณ์ ๖ [ททอภิธัมมัตถสังคหบาลี]
อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวีนีฎีกา - หน้าที่ 114
ชื่อว่าอารมณ์ ในอาลัมพนสังคหะ มี ๖ อย่าง คือ รูปารมณ์ ๑ สัททารมณ์ ๑ คันธารมณ์ ๑ รสารมณ์ ๑ โผฏฐัพพารมณ์ ๑ ธัมมารมณ์ ๑ฯ บรรดาอารมณ์เหล่านั้น รูปนั่นแล ชื่อว่า รูปารมณ์ เสียง เป็นต้นชื่อว่าสัททารมณ์เป็นต้น ก็อย่างนั้น ฯ ส่วนธัมมารมณ์ท่านสงเคราะห์ไว้ ๖ อย่าง ด้วยอำนาจ ปสาทรูป ๑ สุขุมรูป ๑ จิต ๑ เจตสิก ๑ นิพพาน ๑ บัญญัติ ๑ ฯ
บรรดาอารมณ์เหล่านั้น จิตที่เป็นไปในจักขุทวารแม้ทั้งหมดมีรูปเท่านั้นเป็นอารมณ์ และรูปนั้นเฉพาะที่เป็นปัจจุบัน ฯ เสียงเป็นต้นเฉพาะที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น เป็นอารมณ์แม้ของจิต มีจิตที่เป็นไปทางโสตทวารเป็นต้น ก็อย่างนั้น ฯ ส่วนจิตที่เป็นไปทางมโนทวาร มีอารมณ์ ๖ อย่าง เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต และกาลวินิมุต ตามสมควร ฯ
[อธิบายอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น]
การสงเคราะห์อารมณ์ทั้งหลาย โดยสรุป โดยวิภาคและโดยจิตที่มีอามรณ์นั้นๆ เป็นวิสัย ชื่อว่าอาลัมพนสังคหะ ฯ ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่า บอกซึ่งอารมณ์ที่ถึงความวิการแห่งรูป คือ ประกาศภาวะที่เป็นไปในหทัย ฯ รูปนั้นนั่นแล อันจิตและเจตสิกหน่วงไว้ ดุจไม้เท้าเป็นต้น ที่บุรุษผู้มีกำลังทุรพลยึดไว้ หรือว่าจิตและเจตสิกเหล่านั้นมายินดีในรูปนี้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่าอาลัมพนะ ฯ อารมณ์คือรูป ชื่อว่ารูปารมณ์ ฯ ที่ชื่อว่าเสียง เพราะอรรถว่า อันบุคคลพูดคือกล่าว ฯ อารมณ์คือเสียงนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสัททารมณ์ ฯ ที่ชื่อว่ากลิ่น เพราะอรรถว่า ประกาศ คือ แสดงแหล่งของตน คือเป็นอารมณ์ที่ดุจกระทำการส่อเสียดว่า มีของสิ่งนี้อยู่ในที่นี้ ฯ อารมณ์คือกลิ่นนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าคันธารมณ์ ฯ ที่ชื่อว่ารส เพราะอรรถว่า ยินดี คือ พอใจของสัตว์ทั้งหลาย ฯ อารมณ์คือรสนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ารสารมณ์ ฯ ที่ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่า อันสัตว์ถูกต้อง ฯ อารมณ์คือ โผฏฐัพพะนั้น ชื่อว่าโผฏฐัพพารมณ์ ฯ อารมณ์คือธรรม ชื่อว่าธรรมารมณ์ ฯ บทว่า ตตฺถ คือ บรรดาอารมณ์เหล่านั้น ฯ บทว่า รูปเมว ได้แก่ รูป กล่าวคือ สัททายตนะนั่นเอง ฯ บทว่า สทฺทาทโย ได้แก่เสียงเป็นต้น กล่าวคือสัททายตนะ เป็นต้น และโผฏฐัพพาตนะ คือ ภูตทั้ง ๓ เว้นอาโปธาตุ ฯ รูป ๑๖ ที่เหลือเว้นอารมณ์ และปสาทรูปเสีย (อารมณ์ ๗ ปสาทรูป ๕ = ๑๒ ลบรูป ๒๘ เหลือ ๑๖) ชื่อว่าสุขุมรูป ฯ บทว่า ปจฺจุปฺปนฺนํ คือ เป็นไปอยู่ ฯ บทว่า ฉพฺพิธมฺปิ คือ แม้มี ๖ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งรูปเป็นต้น ฯ พระนิพพาน และบัญญัติ ชื่อว่าพ้นแล้วจากกาล เพราะไม่ควรจะกล่าวด้วยอำนาจแห่งกาลมีอดีตกาลเป็นต้น เหตุไม่มีความพินาศ ฯ