รูปเป็นอนัตตา
pratin
วันที่ 12 ธ.ค. 2552
หมายเลข 14646
อ่าน 1,640
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 314 ...................................ด้วยบทนี้ว่าโน เหตํ ภนฺเต ภิกษุเหล่านั้นย่อมปฏิญาณว่า รูปเป็นอนัตตา พระเจ้าข้าด้วยอาการไม่เป็นไปในอำนาจ รูปชื่อว่าเป็นอนัตตา ด้วยเหตุ ๔ คือ ด้วยอรรถว่าเป็นของสูญ ไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นใหญ่ และปฏิเสธอัตตา. จริงอยู่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความเป็นอนัตตาด้วยอำนาจเป็นของไม่เที่ยง ไว้ในที่ไหน ด้วยอำนาจความเป็นทุกข์ไว้ในที่ไหน ด้วยอำนาจความเป็นของไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ไว้ในที่ไหน. จริงอยู่ ทรงแสดงความเป็นอนัตตาด้วยอำนาจความไม่เที่ยงไว้ในฉฉักกสูตรนี้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวว่า จักษุเป็นอัตตาจักษุของผู้นั้นย่อมไม่เกิด ทั้งความเกิดทั้งความเสื่อมของจักษุ ย่อมปรากฏแต่ทั้งความเกิดทั้งความเสื่อมของจักษุใด ย่อมปรากฏ จักษุนั้น ย่อมมาอย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิด และเสื่อม เพราะฉะนั้น จักษุนั้น จึงไม่เกิด. ผู้ใดพึงกล่าวว่า จักษุเป็นอนัตตา ดังนั้น จักษุจึงเป็นอนัตตา ดังนี้. ทรงแสดงความเป็นอนัตตา ด้วยอำนาจความเป็นทุกข์ไว้ ในอนัตตลักขณสูตรนี้ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็รูปนี้เป็นอัตตา รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ จะพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าเป็นอย่างนั้นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งไม่ได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าเป็นอย่างนี้เลย ดังนี้. ทรงแสดงความเป็นอนัตตา ด้วยอำนาจความไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ทั้งสองไว้ในอรหัตตสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นก็เป็นทุกข์ รูปใดเป็นทุกข์ รูปนั้นก็เป็นอนัตตา รูปใดเป็นอนัตตา รูปนั้นก็ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่เป็นรูปนั้น รูปนั้นก็ไม่ใช่อัตตาของเรา พึงเห็นรูปนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง ดังกล่าวมานี้. เพราะเหตุไร. เพราะ อนิจฺจํและ ทุกฺขํ ปรากฏแล้ว อนัตตายังไม่ปรากฏ. จริงอยู่ เมื่อภาชนะใส่ของบริโภคเป็นต้นแตกไป คนทั้งหลายก็กล่าวว่า อโห อนิจฺจํ โอ ไม่เที่ยงหนอไม่มีคนกล่าวว่า อนัตตา. หรือเมื่อต่อมฝีทั้งหลายเกิดขึ้นที่ร่างกาย หรือคนถูกหนามแทง ก็กล่าวกันว่า อโห ทุกขํ โอ ทุกข์หนอ แต่ไม่มีคนกล่าวว่าอโห อนตฺตา โอ ไม่ใช่อัตตาหนอ. เพราะเหตุไร. เพราะชื่อว่าอนัตต- ลักขณะนี้ ไม่ชัด เห็นยาก รู้กันยาก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงความเป็นอนัตตานั้น ด้วยอำนาจไม่เที่ยงบ้าง ทุกข์บ้าง ทั้งไม่เที่ยงทั้งทุกข์ทั้งสองบ้าง. รูปนี้นั้น ทรงแสดงด้วยอำนาจไม่เที่ยงเป็นทุกข์เท่านั้นในปริวัฏ ๓ แม้นี้. แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.