อุชุกตา [นิทเทสวาร]

 
pratin
วันที่  12 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14656
อ่าน  2,634

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 394

ความตรงของกาย ชื่อว่า กายุชุกตา ความตรงของจิต ชื่อว่าจิตตุชุกตา. อุชุกตาทั้ง ๒ นั้น มีการตรงของกายและจิตเป็นลักษณะ มีการกำจัดการคดของกายและจิตเป็นรส มีการซื่อตรงของกายและจิตเป็นปัจจุปัฏฐานมีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส มีมายาและสาเถยยะเป็นต้น อันกระทำความคดโค้งของกายและจิตภาวะแห่งความซื่อตรง ชื่อว่า อุชุตา คือ ความเป็นไปโดยอาการอันตรง. ภาวะแห่งขันธ์ ๓ อันตรงและวิญญาณขันธ์อันตรง เรียกว่า อุชุกตา.ความปฏิเสธแห่งความคดเหมือนมูตรโค ชื่อว่า อชิมหตา (ความคล่องแคล่ว) .บทว่า อวงฺกตา ได้แก่ ปฏิเสธความโค้งเหมือนวงจันทร์. บทว่า อกุฏิลตาได้แก่ ปฏิเสธความคดเหมือนปลายงอนไถ. จริงอยู่. บุคคลใดทำบาปแล้วกล่าวว่าเราไม่ได้กระทำ บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนมูตรโค (เยี่ยวโค) เพราะความไปวกวน ผู้ใดกำลังทำบาปแล้วพูดว่า เราไม่กลัวบาปผู้นั้น ชื่อว่าคด เหมือนวงจันทร์ เพราะความคดมาก ผู้ใดกำลังทำบาป แต่กล่าวว่า ใครไม่กลัวบาปเล่า ผู้นั้นชื่อว่า คด เหมือนงอนไถ เพราะไม่คดมาก. อีกอย่างหนึ่ง กรรมทวาร ๓ ของบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนน้ำมูตรโค. กรรมทวาร ๒ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่แก่บุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนวงจันทร์. กรรมทวารหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนปลายงอนไถ. ส่วนอาจารย์ผู้เรียนทีฆนิกาย กล่าวว่า ภิกษุบางรูปในวัยทั้งหมดย่อมประพฤติอเนสนา ๒๑ และอโคจร ๖ ภิกษุนี้ชื่อว่า คดเหมือนน้ำมูตรโค.บางองค์ในปฐมวัยย่อมบำเพ็ญจตุปาริสุทธิศีล เป็นผู้ละอาย รังเกียจความชั่วใคร่การศึกษา ในมัชฌิมวัยและปัจฉิมวัยเป็นเช่นภิกษุองค์ก่อน ภิกษุนี้ ชื่อว่าเป็นผู้คดเหมือนวงจันทร์. บางองค์ในปฐมวัยก็ดี มัชฌิมวัยก็ดี ย่อมบำเพ็ญจตุปาริสุทธิศีล มีความละอาย มีความรังเกียจบาป ใคร่การศึกษา แต่ในปัจฉิมวัยเป็นเช่นภิกษุองค์ก่อน ภิกษุนี้ ชื่อว่า คดเหมือนปลายงอนไถ.ภาวะของบุคคลผู้คดอย่างนี้ด้วยอำนาจกิเลสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าชิมหตา (ความคด) อวงฺกตา (ความโค้ง) อกุฏิลตา (ความงอ) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความไม่คด เป็นต้น โดยปฏิเสธความคด เป็นต้นเหล่านั้น แล้วทรงแสดงโดยเป็นขันธาธิษฐาน จริงอยู่ ความไม่คดเป็นต้นนี้ ย่อมมีแก่ขันธ์ทั้งหลาย หามีแก่บุคคลไม่ ด้วยบทเหล่านั้น แม้ทั้งหมดอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอาการ คือ ความตรงโดยนัยแรก ตรัสอาการ คือ ความตรงแห่งวิญญาณขันธ์โดยนัยหลัง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พระองค์ทรงตรัสอาการ คือ ความตรงแห่งอรูปธรรมทั้งหลาย เพราะความไม่มีกิเลส.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 29 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ