ว่าด้วยสามัคคี ๓ อย่าง [สุตตนิทเทส]
[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 623
ว่าด้วยสามัคคี ๓ อย่าง
[๒๑๑] คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพนั้นว่าเป็นความพร้อมเพรียง มีความว่า
คำว่า ความพร้อมเพรียงได้แก่ สามัคคี ๓ อย่าง คือ
คณะสามัคคี ๑
ธรรมสามัคคี ๑
อนภินิพพัตติสามัคคี ๑
คณะสามัคคี เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลายแม้มาก พร้อมเพรียงกันชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังน้ำเจือด้วยน้ำนม แลดูกันและกันด้วยจักษุเป็นที่รักอยู่ นี้ชื่อว่า คณะสามัคคี
ธรรมสามัคคี เป็นไฉน
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมเหล่านั้นย่อมแล่นไป ผ่องใส ประดิษฐานด้วยดี พ้นวิเศษ โดยความเป็นอันเดียวกัน ความวิวาท ความขัดแย้งกัน แห่งธรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี นี้ชื่อว่า ธรรมสามัคคี
อนภินิพพัตติสามัคคี เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลายแม้มาก ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความบกพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพาน ธาตุของภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏ นี้ชื่อว่า อนภินิพพัตติสามัคคี
ความสามัคคีในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีหลากหลายนัย ทั้งเบื้องต้นจนถึงสูงสุด ซึ่งความสามัคคี มี ๓ อย่าง คือ ความสามัคคี ที่หมายถึง โดยนัยสมมติ ที่เป็น คณะ กลุ่ม ที่สามัคคีกัน ซึ่งก็ไม่พ้นจากแต่ละคน แต่ละหนึ่ง ที่มีจิตใจ เมตตา หวังดี ไม่รังเกียจ ผูกโกรธกัน แต่ใจคิดด้วยความเป็นมิตร เมื่อใจเป็นมิตร กาย วาจา ต่อหน้า และลับหลัง ก็เป็นไปเพื่อเกื้อกูล หวังดี เพื่อประโยชน์สุขของกันและกัน เมื่อแต่ละหนึ่ง เป็นเช่นนี้ ใจที่ดี ก็ทำให้กลุ่มมีความสามัคคี มีความหวังดี ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และหวังดีกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง คณะ กลุ่มนั้น ก็เป็นคณะที่มีความสุข เพราะเริ่มจากตนเองที่มีจิตเป็นกุศล โดยนัยตรงกันข้าม อกุศลที่เกิดขึ้นแต่ละคน จะทำให้คณะสามัคคีไม่ได้เลย เพราะแม้จะรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นการรวมตัวของอกุศลธรรม ไม่เป็นความสามัคคีที่แท้จริง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งตามมา เพราะเป็นอกุศลธรรม
ความสามัคคีที่แท้จริง หมายถึง เมตตา ความหวังดีที่เป็นกุศลธรรม ความสามัคคี จะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องเริ่มจากแต่ละคน แต่ละหนึ่ง คือ เริ่มจากใจของตนเอง ที่มีความเมตตา มีความเข้าใจ หวังดี เริ่มจากคนรอบข้าง ใกล้ตัว เมื่อมีเมตตาที่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมมีเพิ่มไปในบุคคลรอบข้าง สังคมข้างนอก คิดด้วยกุศลจิต กาย วาจาก็น้อมไปในทางที่ดี ที่เป็นกุศล มีเมตตา หวังดี ไม่ผูกโกรธกัน ไม่อคติ สังคมก็น่าอยู่เพราะ สภาพธรรมที่เป็นกุศลย่อมนำมาซึ่งความรื่นรมย์กันของสังคม เพราะอยู่ด้วยกันด้วย กาย วาจาและใจที่ดี ซึ่งจะเริ่มมีได้ หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในสังคมคือ แต่ละหนึ่ง เริ่มจากตนเอง ที่จะสนใจศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมากขึ้น ก็เป็นการเสพคุ้น สิ่งที่จะทำให้เกิดกุศลธรรม เมื่อปัญญาความเข้าใจเกิด ความคิดนึกก็เป็นไปในทางที่ดี วาจา และ การกระทำก็ดีตามไปด้วย เมื่อเกิดกุศลธรรมเกิดความดีงาม ก็ทำให้ สังคม หมู่คณะ อยู่ด้วยความสามัคคี ที่เป็นความสามัคคีด้วยกุศลธรรม