นั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง [การนั่งที่มีโทษ ๖ อย่าง]
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 277
การนั่งที่มีโทษ ๖ อย่าง
บทว่า นิสีทิ แปลว่า เข้าไปนั่งใกล้ เพราะว่าคนที่เป็นบัณฑิตเข้าไปหาบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครู แล้วย่อมนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง และพราหมณ์นี้ก็เป็นบัณฑิตคนหนึ่ง ในจำนวนบัณฑิตเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า ก็บุคคลนั่งอย่างไร จึงชื่อว่านั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ตอบว่า นั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่าง. ถามว่า โทษการนั่ง ๖ อย่างมีอะไรบ้าง ตอบว่า มีดังนี้คือ :-
๑. อติทูรํ นั่งไกลเกินไป
๒. อจฺจาสนฺนํ นั่งใกล้เกินไป
๓. อุปริวาตํ นั่งในที่เหนือลม
๔. อุนฺนตฺปฺปเทสํ นั่งในที่สูง
๕. อติสมฺมุขํ นั่งตรงหน้าเกินไป
๖. อติปจฺฉา นั่งล้ำไปข้างหลังมาก
อธิบายว่า คนที่นั่งในที่ไกลเกินไป ถ้าประสงค์จะพูดกันก็ต้องพูดด้วยเสียงดัง นั่งในที่ใกล้เกินไปก็จะเบียดเสียดท่าน นั่งในที่เหนือลมก็จะรบกวนท่านด้วยกลิ่นตัว หากนั่งในที่สูงก็จะเป็นการแสดงความไม่เคารพนั่งตรงหน้าเกินไป ถ้าประสงค์จะมองดู (หน้ากัน) ก็จะต้องจ้องตากันนั่งล้ำข้างหลังมาก ถ้าประสงค์จะมองดู จะต้องยื่นคอไป (เหลียว) ดู เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นี้จึงนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างนี้เสีย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พราหมณ์นั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง