ธรรมที่เพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน [ทีฆชาณุสูตร]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔- หน้าที่ 560
ข้อความบางตอนจากทีฆชาณุสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉนคือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขาสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑. ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงานคือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา. ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ โภคทรัพย์หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน เหงื่อโทรมตัว ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ พร้อมมูล ด้วยทำไว้ในใจว่าไฉนหนอ พระราชาไม่พึงริบโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา. ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในฐานหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน หรือบุตรสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้พึงพร้อมด้วยปัญญา ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา. ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่ารายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ. ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่ายและรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูก่อน พยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่อ่าจะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อ ฉะนั้นก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา. ฯ