ปาฏิหาริย์ ๓ [เกวัฏฏสูตร]
[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - [เล่มที่ 12] หน้าที่ 229
ข้อความบางตอนจาก
เกวัฏฏสูตร
[๓๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูก่อนเกวัฏฏะ อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งบัลลังก์เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบางคนเห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวทำให้เป็นหลายคนก็ได้ ... คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นจะบอกแก่คนที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสคนใดคนหนึ่งว่า พ่อมหาจำเริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าพิศวงจริงหนอ ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก. มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปโน้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส จะพึงกล่าวกะคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า นี่แน่ะพ่อคุณ มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารีนั้น ... ดูก่อนเกวัฏฏะ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวอย่างนั้น กะคนผู้มีศรัทธามีความเลื่อมใสนั้นบ้างไหม. พึงกล่าว พระเจ้าข้า. ดูก่อนเกวัฏฏะ เราเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แหละ จึงอึดอัด ระอา รังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์.
[๓๔๐] ดูก่อนเกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้บ้าง จิตของท่านเป็นดังนี้บ้าง. บุคคลบางคน มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั่นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นบุคคลอื่นได้ ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้บ้าง จิตของท่านเป็นดังนี้บ้าง. ครั้นแล้วผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบอกแก่คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสคนใดคนหนึ่งว่า พ่อมหาจำเริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอน่าพิศวงจริงหนอ ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ครั้นแล้วผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสจะพึงกล่าวกะผู้มีศรัทธา ผู้มีความเลื่อมใสว่า นี่แน่พ่อคุณ มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อมณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ด้วยวิชาชื่อว่ามณิกานั้น ดูก่อนเกวัฏฏะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสนั้นจะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูก่อนเกวัฏฏะ เราเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา รังเกียจอาเทสนาปาฏิหาริย์.
[๓๔๑] ดูก่อนเกวัฏฏะ อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงใส่ใจอย่างนี้ อย่าใสใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ เข้าถึงสิ่งนี้อยู่. ดูก่อนเกวัฏฏะ นี้เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์
[๓๔๒] ดูก่อนเกวัฏฏะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ ดูก่อนเกวัฏฏะ แม้นี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ภิกษุเข้าถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานอยู่. ดูก่อนเกวัฏฏะ ข้อนี้ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ฯลฯ ภิกษุนำเข้าไปน้อมเข้าไปซึ่งจิตเพื่อญาณทัสสนะ. ดูก่อนเกวัฏฏะ นี้ ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ฯลฯ ภิกษุย่อมรู้ว่า ไม่มีจิตอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้อีก ข้อนี้ท่านเรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วจึงประกาศให้รู้. ฯลฯ