พรรณาคาถาเรื่องทานแก่เปรตภูมิ

 
pratin
วันที่  18 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14795
อ่าน  2,476

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 298

ข้อความบางตอนจากอรรถกถา

พรรณนาสองคาถาคือคาถาที่ ๘ และคาถาที่ ๙

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้น ตรัสว่า ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้วย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้น ด้วยทานที่หมู่ญาติมิตรสหายให้แล้ว จากมนุษยโลกนี้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อทรงประกาศความนั้น ด้วยข้ออุปมาทั้งหลายจึงตรัส ๒ คาถานี้ว่า อุนฺนเต อุทกํ วุฏฺฐํ เป็นต้น คาถานั้นมีความว่า น้ำที่หมู่เมฆให้ตกลงบนที่ดอนบนบก บนภูมิภาคที่สูง ย่อมไหลลงที่ลุ่ม คือไหลไปถึงภูมิภาคที่ลุ่มต่ำ ฉันใด ทานที่หมู่ญาติมิตรสหายให้จากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลอธิบายว่าบังเกิดผลปรากฏผลแก่หมู่เปรต ฉันนั้นเหมือนกัน.

จริงอยู่ เปตโลก โลกเปรต ชื่อว่า ฐานะที่ตั้งแห่งความสำเร็จผลแห่งทาน เหมือนที่ลุ่มเป็นฐานะที่ขังน้ำอันไหลมา.เหมือนอย่างตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนั้นแล เป็นฐานะ ดังนี้ เหมือนอย่างว่า น้ำที่ไหลมาจากชุมนุมด้วย ซอกเขา คลองใหญ่ คลองซอย หนองบึง เป็นแม่น้ำใหญ่เต็มเข้าก็ทำให้สาครทะเลเต็มเปี่ยม ฉันใด ทานที่ญาติมิตรสหายให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่หมู่เปรตตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้ว แม้ฉันนั้น.

พรรณนาคาถาที่ ๑๐

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความนี้ว่า ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้น ด้วยทานที่ญาติมิตรสหาย ให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ดังนี้แล้ว เมื่อทรงแสดงอีกว่า เพราะเหตุที่หมู่เปรตเหล่านั้น หวังเต็มที่ว่าพวกเราจักได้อะไรๆ จากมนุษยโลกนี้ แม้พากันนาถึงเรือนญาติแล้วก็ไม่สามารถจะร้องขอว่า ขอท่านทั้งหลาย โปรดให้ของชื่อนี้แก่พวกเราเถิด ฉะนั้น กุลบุตรเมื่อระลึกถึงสิ่งที่ควรระลึกเหล่านั้น พึงให้ทักษิณา เพื่อหมู่เปรตเหล่านั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า อทาสิ เม เป็นต้น. คาถานั้น มีความว่า กุลบุตรเมื่อระลึกทุกอย่างอย่างนี้ว่า ท่านได้ให้ทรัพย์หรือธัญญาหารชื่อนี้แก่เรา ท่านได้พากเพียรด้วยตนเอง ได้กระทำกิจชื่อนี้แก่เรา คนโน้นเป็นญาติ เพราะเกี่ยวเนื่องข้างมารดาหรือข้างบิดาของเราคนโน้นเป็นมิตร เพราะสามารถช่วยเหลือ โดยสิเนหา และคนโน้นเป็นเพื่อนเล่นฝุ่นด้วยกันของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณา พึงมอบทานให้แก่เขาผู้ล่วงลับไปแล้ว. มีปาฐะอื่นอีกว่า เปตานํ ทกฺขิณา ทชฺชา. ปาฐะนั้นมีความว่า ชื่อว่าทัชชา เพราะเป็นของที่พึงให้. ของที่พึงให้นั้นคืออะไร ก็คือทักษิณาเพื่อเขาผู้ล่วงลับไปแล้ว. ด้วยเหตุนั้น กุลบุตรเมื่อระลึกถึงท่าน อธิบายว่า เมื่อนึกถึงกิจที่ท่านทำมาแต่ก่อน โดยนัยว่า ท่านได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ดังนี้เป็นต้น. คำนี้. พึงทราบว่าเป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถประสงค์เป็นตติยาวิภัตติ.

พรรณนาคาถาที่ ๑๑

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงอนุสสรณวัตถุที่เป็นเหตุ ในการมอบให้ซึ่งทักษิณาเพื่อหมู่เปรตทั้งหลายอย่างนี้ จึงตรัสว่า กุลบุตรเมื่อระลึกถึงกิจที่ท่านทำมาแต่ก่อนว่า ท่านได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำกิจแก่เรา ได้เป็นญาติมิตร สหายของเรา พึงให้ทักษิณาแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว. เมื่อทรงแสดงอีกว่า ชนเหล่าใด มีการร้องไห้และเศร้าโศกเป็นต้นเป็นเบื้องหน้า เพราะความตายของญาติ ดำรงอยู่. ผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่ให้อะไรๆ เพื่อประโยชน์แก่ชนเหล่านั้น การร้องไห้และการเศร้าโศกเป็นต้นนั้น ของชนเหล่านั้น มีแต่ทำตัวให้เดือดร้อนอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมไม่ยังประโยชน์อะไรๆ ให้สำเร็จแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเลย จึงตรัสคาถานี้ว่า น หิ รุณฺณํ วา เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุณฺณํ ได้แก่ การร้องไห้ ความร่ำไห้ ความที่น้ำตาร่วง ทรงแสดงความลำบากกายด้วยบทนี้.

บทว่า โสโก ได้แก่ ความเศร้า ความโศกเศร้า. ทรงแสดงความลำบากใจด้วยบทนี้.

บทว่า ยาวญฺญา ได้แก่ หรือว่านอกจากร้องไห้เศร้าโศกใด.

บทว่า ปริเทวนา ได้แก่ การพร่ำเพ้อการรำพันถึงคุณ โดยนัยว่า โอ้ ลูกคนเดียว ที่รัก ที่พึงใจอยู่ไหนดังนี้เป็นต้น ของคนที่ถูกความเสื่อมเสียญาติกระทบแล้ว. ทรงแสดงความลำบากวาจาด้วยบทนี้.

พรรณนาคาถาที่ ๑๒

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้น ทรงแสดงการร้องไห้เป็นต้น ไม่เป็นประโยชน์ว่า การรำพันอย่างอื่นแม้ทั้งหมด ไม่มีเพื่อประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับ ไปแล้ว ที่แท้มีแต่ทำตัวให้เดือดร้อนอย่างเดียวเท่านั้น ญาติทั้งหลายก็ตั้งอยู่อย่างนั้นดังนี้แล้ว เมื่อทรงแสดงความที่ทักษิณาซึ่งพระเจ้ามคธรัฐ ทรงถวายแล้วมีประโยชน์ จึงตรัสคาถานี้ว่า อยญฺจ โข ทกฺขิณา ดังนี้เป็นต้น.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ