พราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  26 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14877
อ่าน  1,025

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 8

"บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิต เสียจากบาป เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่, ใจจะยินดีในบาป"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิตฺเรถ ความว่า พึงทำด่วนๆ คือเร็วๆ . จริงอยู่ คฤหัสถ์เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า " จักทำกุศลบางอย่าง ในกุศลทานทั้งหลายมีถวายสลากภัตเป็นต้น " ควรทำไวๆ ทีเดียว ด้วยคิดว่าเราจะทำก่อน เราจะทำก่อน " โดยประการที่ชนเหล่าอื่นจะไม่ได้โอกาสฉะนั้น. หรือบรรพชิต เมื่อทำวัตรทั้งหลายมีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น ไม่ให้โอกาสแก่ผู้อื่น ควรทำเร็วๆ ทีเดียว ด้วยคิดว่า "เราจะทำก่อน เราจะทำก่อน"

สองบทว่า ปาปา จิตฺต ความว่า ก็บุคคลพึงห้ามจิตจากบาปกรรมมีกายทุจริตเป็นต้น หรือจากอกุศลจิตตุปบาท ในที่ทุกสถาน

สองบทว่า ทนฺธิ หิ กรโต ความว่า ก็ผู้ใดคิดอยู่อย่างนั้นว่า "เราจักให้ จักทำ ผลนี้จักสำเร็จแก่เราหรือไม่" ชื่อว่าทำบุญช้าอยู่ เหมือนบุคคลเดินทางลื่น. ความชั่วของผู้นั้นย่อมได้โอกาส เหมือนมัจเฉรจิตพันดวงของพราหมณ์ชื่อเอกสาฎกฉะนั้น. เมื่อเช่นนั้นใจของเขาย่อมยินดีในความชั่ว, เพราะว่าในเวลาที่ทำกุศลกรรมเท่านั้นจิตย่อมยินดีในกุศลกรรม, พ้นจากนั้นแล้ว ย่อมน้อมไปสู่ความชั่วได้แท้

ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ