ขณะโกรธมีความพอใจเกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอหรือไม่
ขอเรียนถามถึงความพอใจ อันได้แก่ฉันทเจตสิก (ซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก) ครับ เพราะตามที่ท่านอาจารย์บรรยายไว้ในปรมัตถธรรมสังเขปว่า ฉันทเจตสิกไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง (อเหตุกจิต ๑๘ + โมหมูลจิต ๒) ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกดวงที่เหลือ ๖๙ ดวงเสมอหรือไม่ หรือเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง เช่น ขณะที่โกรธอันเป็นโทสมูลจิตนั้น มีฉันทเจตสิกที่พึงพอใจเกิดร่วมด้วยเสมอหรือไม่ และปกิณณก เจตสิกดวงอื่นๆ เกิดขึ้นทำกิจตามจิตตนิยามเสมอไปหรือไม่ครับ
ฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ๖๙ ดวง เว้นจิต ๒๐ ดวงตามที่ท่านยกมาขณะที่จิตเป็นโทสมูลจิต มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ และปกิณณกเจตสิกดวงอื่นๆ ย่อมเกิดขึ้นทำกิจตามสมควรแก่ฐานะเสมอไปครับ
ผมมีความเข้าใจว่า ขณะโกรธไม่เสมอไปที่จะมีฉันทะเกิดร่วมด้วย มีมูลสองก็ได้คือมีฉันทะด้วย และมีมูลหนึ่งก็ได้ คือโกรธเกิดขึ้นทันที่ โดยที่พอใจยังไม่เกิด ไม่รู้ว่าจะเข้าใจถูกผิดอย่างไรครับ
ฉันทะเกิดกับกุศลก็ได้เกิดกับอกุศลก็ได้ คนที่โกรธบอกเขาว่าอย่าโกรธ เขายอมหยุดไหมคะ จริงๆ แล้วเขามีฉันทะในการโกรธ ไม่รู้ตัวเลย ใครห้ามก็ไม่ฟัง โกรธไม่ดี สารพัดเป็นโทษอย่างนั้น อย่างนี้ ก็จะโกรธ ยับยั้งไม่ได้ เพราะฉันทะในความโกรธ เพราะฉะนั้น ฉันทะเจตสิกเกิดกับกุศลก็ได้ กับอกุศลก็ได้ เป็นปกิณณกเจตสิกเกิดได้กับจิตเกือบทุกประเภท เว้นไม่เกิดกับอเหตุกจิต นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดซึ่งการศึกษาให้ละเอียด ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งใครก็ดีบังคับบัญชาไม่ได้ ถ้ารู้มากเข้าใจมาก ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ฉันทะคือความเป็นผู้ใคร่ที่จะทำ ดังนั้น ในขณะที่โกรธก็มีความใคร่ที่จะโกรธ ซึ่งไม่ได้หมายถึงความหมายพอใจในอารมณ์อย่างเดียวครับ เพราะฉะนั้นเมื่อโกรธเกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีใดก็ต้องมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับโทสเจตสิกเสมอ ไม่มียกเว้นคือเป็นผู้ใคร่ที่จะโกรธแล้วในขณะที่โกรธและพอใจที่จะโกรธแล้วในขณะนั้น ส่วนเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นปกิณณกเจตสิก (วิตก วิจาร วิโมกข์ ปิติ วิริยะ ฉันทะ) ก็เกิดร่วมด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องครบทั้ง 6 ดวง ก็แล้วแต่ประเภทของจิต ครับ
ขออธิบายเพิ่มเติมคำว่า ฉันทะ ซึ่งฉันทะใช้ได้หลายความหมายเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ฉันทะจึงเป็นไปในฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีก็ได้ หมายถึงคำที่ใช้ว่าฉันทะ อาจจะหมายถึง ความเป็นผู้ใคร่ที่จะทำที่เป็นไปในทางกุศล อบรมปัญญา ประการหนึ่ง หรือ เป็นฉันทะที่เป็นโลภเจตสิก (กามฉันทะ) ฉันทะหมายถึงความเพียรก็มี (วิริยเจตสิก) ฉันทะหมายถึงความเห็นผิดก็มี (ทิฏฐิ) ซึ่งใช้คำว่าฉันทะเหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้ามุ่งที่ตัวปรมัตถธรรมคือฉันทเจตสิก อันเป็นความเป็นผู้ใคร่ที่จะทำและพอใจในอารมณ์นั้นครับ
ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ผมเข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของธรรมะ ซึ่งในขณะหนึ่งมีธรรมะเกิดขึ้นหลายอย่าง และต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แต่การระลึกศึกษาในชีวิตประจำวันจริงๆ นั้น ควรพิจารณาเฉพาะสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฏ (กับปัญญา) หรือปัญญาไม่ถึงขั้นที่จะรู้ได้ ก็ไม่ควรกังวลถึง เพราะธรรมะเหล่านั้นเกิดแล้วดับแล้ว เราผู้เป็นสาวกก็เพียงรู้เรื่องราวตามที่ทรงแสดงไว้เท่านั้น เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่สัมมาสติ ครับ
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 14916 ความคิดเห็นที่ 7 โดย Sam
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ผมเข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของธรรมะ ซึ่งในขณะหนึ่งมีธรรมะเกิดขึ้นหลายอย่าง และต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แต่การระลึกศึกษาในชีวิตประจำวันจริงๆ นั้น ควรพิจารณาเฉพาะสภาพธรรมที่ปรากฎ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฎ (กับปัญญา) หรือปัญญาไม่ถึงขั้นที่จะรู้ได้ ก็ไม่ควรกังวลถึง เพราะธรรมะเหล่านั้นเกิดแล้วดับแล้ว เราผู้เป็นสาวกก็เพียงรู้เรื่องราวตามที่ ทรงแสดงไว้เท่านั้น เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่สัมมาสติครับ
ขออนุโมทนาค่ะ