การรักษาอุโบสถที่ถูกคือเพื่อขัดเกลาและดับกิเลส [ทุติยราชสูตร]
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 168
ข้อความบางตอนจาก ทุติยราชสูตร
[๔๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทวดาเมื่อจะปลุกใจเหล่าเทวดาดาวดึงส์ จึงภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นดังข้าพเจ้า ผู้นั้น ก็พึงถืออุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และถืออุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลคาถานั้นนั่น ท้าวสักกะจอมเทวดาขับไม่เข้าที ไม่เป็นการขับดีแล้ว กล่าวไม่เหมาะ ไม่เป็นสุภาษิต นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะท้าวสักกะจอมเทวดายังไม่ปราศจากราคะ ... โทสะ ... โมหะ ส่วนภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว สำเร็จแล้ว ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระแล้ว เสร็จประโยชน์ตนแล้ว สิ้นเครื่องร้อยรัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นด้วยความรู้ชอบแล้ว จึงควรกล่าวคาถานั่นว่า แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นดังข้าพเจ้า ผู้นั้นก็พึงถืออุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และถืออุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด. นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะภิกษุนั้น ปราศจากราคะ ... โทสะ ... โมหะแล้ว
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์