อินเดีย ... อีกแล้ว 38 วัดบุพพาราม

 
kanchana.c
วันที่  31 ธ.ค. 2552
หมายเลข  14946
อ่าน  4,314

วัดบุพพาราม

เมื่อกลับมาจากการนมัสการสถานที่สำคัญในกรุงสาวัตถีในภาคเช้านั้น คณะที่อยู่ในรถ บัสบอกว่า ได้แวะชมวัดบุพพารามของท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาด้วย เรานั่งรถตู้ไม่ได้ ชม จึงไปติดสินบนอาบีมคนขับรถตู้ให้พาไป อาบีมผู้ซื่อสัตย์รับเงิน ๑๐๐ บาทแล้ว ก็ ไปถามหัวหน้า ได้ความว่าวัดที่แวะนั้น ไม่ใช่วัดบุพพาราม แต่เป็นวัดของศาสนาเชน วัดบุพพารามนั้นอยู่ห่างโรงแรมไป ๒ กิโลเมตรก็จริง แต่ไม่มีทางเดินเข้าไป เพราะ สถานที่นั้นไม่มีซากเหลืออยู่เลย เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำอจิรวดี ถูกน้ำเซาะหายไปหมด แล้ว จึงไม่ได้ไป เงิน ๑๐๐ บาทจึงเป็นค่าข้อมูลที่อาบีมกลับมาเล่าให้ฟัง

แต่ถึงไม่ได้ไป ก็ยังอยากรู้จักวัดบุพพารามที่ท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาสร้างถวายอยู่ดี เพราะเป็นวัดที่สร้างเป็นโลหประสาทแห่งแรกของโลก และพระผู้มีพระภาคทรงประทับ อยู่ที่พระวิหารนี้ ๖ พรรษา

ท่านมหาอุบาสิกาวิสาขานั้นเกิดที่ภัททิยนคร แคว้นมคธ เป็นธิดาของธนญชัยเศรษฐี และนางสุมนาเทวี เป็นผู้มีบุญมาก มีทรัพย์นับไม่ถ้วนในพระนครนั้น เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ เมณฑกเศรษฐีผู้เป็นปู่ของท่าน ได้ให้ท่านพร้อมกับเด็กหญิงบริวาร ๕๐๐ ไปต้อน รับพระศาสดา เมื่อฟังธรรมจบ ท่านและเด็กหญิงบริวารทั้งหมด ก็ได้บรรลุเป็นพระ โสดาบัน

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระเจ้าพิมพิสารเป็นญาติกันด้วยการแต่งงานกับน้องสาว ของแต่ละฝ่าย พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลขอตระกูลเศรษฐีผู้มีบุญที่มีอยู่มากมายใน แคว้นมคธให้ไปอยู่ที่แคว้นโกศล พระเจ้าพิมพิสารประทานธนญชัยเศรษฐี บิดาของ ท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาให้ย้ายไป ซึ่งธนญชัยเศรษฐีได้เดินทางอพยพผู้คนไปถึง สถานที่แห่งหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ริมแม่น้ำอจิรวดี อยู่ห่างจากกรุงสาวัตถี ๑๑๒ กิโลเมตร เป็นที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน เมื่อทราบว่าเป็นที่ดินของพระเจ้าปเสนทิ โกศล จึงขอพระราชทาน จึงได้ชื่อว่า เมืองสาเกต เพราะเศรษฐีนั้นจับจองในเวลาเย็น เมืองสาเกตเป็นเมืองสำคัญอันดับ ๒ ของแคว้นโกศล ดูจากภาพถ่ายในหนังสือภาพ ตามรอยบาทพระศาสดาแล้ว สวยงามน่าอยู่มาก อยากไปเห็นกับตาสักครั้งหนึ่ง จากนั้นท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาก็เจริญเติบโตในเมืองสาเกต จนอายุ ๑๖ ปี ท่านเป็น ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ เพราะเป็นพระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิดในสภาพธรรมที่ ปรากฏ ไม่ถือข้อปฏิบัติที่ผิด ไม่มีความลังเลสงสัยในพระธรรม และไม่กลับมาทำผิดศีล ๕ อีกเลย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ มี ลักษณะเบญจกัลยานี คือ ความงาม ๕ อย่าง ได้แก่ ผมงาม เนื้องาม กระดูกงาม (ฟัน งาม) ผิวงาม วัยงาม นอกจากนั้นท่านมีเสียงไพเราะ เจรจาอ่อนหวาน มีกำลังกายแข็ง แรงเท่ากับช้าง ๕ เชือก ไม่มีโรคภัย ถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมหาศาล เพราะท่านเกิด ในตระกูลของธนญชัยเศรษฐี และถึงพร้อมด้วยบริวารสมบัติ มีบริวารมากมายช่วย เหลือกิจการงานตั้งแต่เกิด

เมื่ออายุ ๑๖ ปี ท่านแต่งงานกับปุณณวัฒนกุมาร บุตรของมิคารเศรษฐี แห่งกรุงสาวัตถี ในงานแต่งงานนั้นบิดาของท่านได้ให้ช่างสร้างเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ราคา ๙ โกฏิ (๙๐ ล้าน) ค่าจ้าง ๑๐๐,๐๐๐ กหาปนะ เป็นของขวัญ และมอบสมบัติมากมายให้ เมื่อท่านย้ายไปอยู่เมืองสาวัตถีแล้ว ก็ได้ทำให้มิคารเศรษฐี บิดาสามีได้ฟังธรรม จน บรรลุเป็นพระโสดาบัน

ท่านใช้ชีวิตคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน และทำบุญกุศลมากมาย ท่านมีบุตร ๑๐ คน ธิดา ๑๐ คน แต่ละคนก็มีบุตรธิดาอีกคนละ ๑๐ และมีหลานหญิง หลานชายให้ท่านอีกคนละ ๑๐ รวมเป็น ๘,๔๒๐ คน (คงรวมเขยและสะใภ้ด้วย)

เมื่อท่านลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ไว้ที่วิหาร ท่านพระอานนท์เก็บไว้ให้ ท่านจึง ไม่รับคืน ได้ประกาศขายเพื่อนำเงินมาทำบุญ แต่ไม่มีใครมีทรัพย์มากพอจะซื้อ จึงซื้อ ไว้เอง แล้วนำเงิน ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนไปถวายพระผู้มีพระภาคเพื่อเป็นค่าปัจจัย ๔ พระ ผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านสร้างวิหารถวายสงฆ์ ใกล้ประตูทิศตะวันออก

ท่านยินดีมาก ซื้อที่ดินในราคา ๙ โกฏิ สร้างวิหาร ๒ ชั้น มีห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง ราคา ๙ โกฏิ ใช้เวลาสร้าง ๙ เดือน โดยอาศัยท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์ช่วยเหลือ และ นิมนต์พระผู้มีพระภาคมาประทับที่วิหารของตน

เมื่อฉลองวิหารเสร็จ ในเวลาบ่าย ท่านมหาอุบาสิกาวิสาขาอันมีบุตรหลานแวดล้อม แล้ว คิดว่า “ความปรารถนาใดๆ อันเราตั้งไว้แล้วในกาลก่อน ความปรารถนานั้นๆ ทั้ง หมดเทียว ถึงที่สุดแล้ว” เดินเวียนรอบปราสาท เปล่งอุทานด้วยเสียงอันไพเราะ ด้วย คาถา ๕ คาถาว่า

ความดำริของเราว่า “เมื่อไรเราจักถวายปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน เป็น วิหารทาน” ดังนี้บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า “เมื่อไรเราจักถวายเตียงตั่งฟูกและหมอน เป็นเสนาสนภัณฑ์” ดังนี้บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า “เมื่อไรเราจักถวายสลากภัตร ผสมด้วยเนื้ออันสะอาด เป็น โภชนทาน” ดังนี้บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า “เมื่อไรเราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย เป็น จีวรทาน” ดังนี้บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า “เมื่อไรเราจักถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อย เป็น เภสัชทาน” ดังนี้บริบูรณ์แล้ว

ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ยินเสียงของท่านแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านวิสาขา ขับเพลง ท่านเสียจริตเพราะดีกำเริบเสียแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราหาขับเพลงไม่ แต่อัธยาศัยของเธอเต็มเปี่ยมแล้ว เธอดีใจ ว่า ความปรารถนาที่เราตั้งไว้ถึงที่สุดแล้ว”

เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคทรงเล่าบุรพกรรมของท่านมหา อุบาสิกาวิสาขาว่า ท่านได้เคยตั้งความปรารถนาไว้ที่จะเป็นอุบาสิกาผู้เลิศในการ อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ แล้วก็ทำบุญ กุศลมากมายตั้งแต่ครั้งนั้นถึงแสนกัป จนในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นี้จึงได้สมความ ปรารถนา

ด้วยโลภะของเราก็อดคิดอย่างที่เคยสะสมมาไม่ได้ว่า อยากเป็นแบบท่านบ้าง ไม่ได้ อยากเป็นอย่างที่ท่านปรารถนาจะทำกุศลหรอกนะ แต่อยากได้ผลที่ท่านได้แล้ว คือ ได้รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ซึ่งถ้าทำบุญโดยหวังผลของกุศล ก็ไม่ใช่ทำ กุศลด้วยความบริสุทธิ์ใจเหมือนท่าน ถึงจะทำกุศลเท่ากับท่าน ผลที่ได้รับก็ต้องน้อย กว่า เพราะกุศลนั้นเจือด้วยโลภะ

การที่ท่านได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น ก็ไม่ใช่ได้ด้วยความปรารถนา แต่เป็น ผลของกุศลที่ได้ถวายจีวรสาฎกแก่ภิกษุ ๒ หมื่นรูป ถ้าเป็นผู้ชายที่ถวายจีวร ย่อมถึงที่ สุดด้วยบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์

จะเห็นว่าท่านมหาอุบาสิกาวิสาขานั้นไม่ได้ปรารถนาผลของกุศลเลย ความปรารถนา ของท่านนั้นเป็นความต้องการทำกุศลทั้งนั้น จึงเป็นความปรารถนาที่เป็นบารมี ท่านทำ ด้วยศรัทธา ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงได้รับผลมาก

สิ่งที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ บริวารสมบัติทั้งหลายนั้น ไม่ได้ เพราะความปรารถนา เพราะใครๆ ก็ปรารถนาทั้งนั้น แต่ต้องทำกุศลให้มากด้วย แล้ว กุศลก็จะทำหน้าที่ให้ผลเองโดยไม่ต้องปรารถนาผล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“นายมาลาการ พึงทำพวงดอกไม้ให้มากจากกองดอกไม้ แม้ฉันใด มัจจสัตว์ผู้มีอันจะ พึงตายเป็นสภาพ ควรทำกุศลไว้ให้มาก ฉันนั้น”


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 31 ธ.ค. 2552

กุศลเป็นมิตรแท้ เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้และโลกหน้าค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
jangthi
วันที่ 1 ม.ค. 2553

ความสำเร็จซึ่งความปราถนาใดใดในสิ่งดีๆ นี้ ล้วนเกิดขึ้นได้ด้วยการสั่งสมบุญกุศลให้มากนั่นเอง ...

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pondhip
วันที่ 8 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
guy
วันที่ 25 มี.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chookasem
วันที่ 28 มี.ค. 2554

ขอขอบคุณ และอนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
preechacupr
วันที่ 17 ก.ค. 2567

ดูจากแผนที่จริง (ปัจจุบัน) วิหารบุพพารามห่างจากวิหารเชตวันเมืองสาวัตถี ๕๐ไมล์

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ