กรรมเป็นปัจจัยในรัตนะทั้ง 7 [พรหมมายุสูตร]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  5 ม.ค. 2553
หมายเลข  14997
อ่าน  2,078

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 252 ข้อความบางตอนจาก พรหมมายุสูตร

ก็ในบรรดารัตนะเหล่านี้ พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงชนะแว่นแคว้นที่ยังไม่ชนะด้วยจักรรัตนะ. ทรงเที่ยวไปตามความสุขสะดวกในแว่นแคว้นด้วยช้างแก้ว และม้าแก้ว ทรงรักษาแว่นแคว้นได้ด้วยปริณายกแก้ว. ทรงเสวยอุปโภคสุขด้วยรัตนะนอกนี้. ก็การประกอบด้วยอำนาจแห่งความอุสสาหะแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น ย่อมบริบูรณ์ดีด้วยรัตนะที่ ๑ ความประกอบด้วยศักดิ์แห่งเจ้า ย่อมบริบูรณ์ดีด้วยช้างแก้ว ม้าแก้วและคหบดีแก้ว การประกอบด้วยอำนาจแห่งความฉลาด ย่อมบริบูรณ์ดีด้วยปริณายกแก้วสุดท้าย.

ผลแห่งการประกอบด้วยอำนาจสามประการ ย่อนบริบูรณ์ดีด้วยนางแก้วและแก้วมณี. พระเจ้าจักรพรรดินั้น ทรงเสวยความสุขในการใช้สอยด้วยนางแก้วและแก้วมณี. ทรงเสวยอิสริยสุขด้วยรัตนะนอกนี้. อนึ่ง รัตนะ ๓ ข้างต้นของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันกุศลมูลคือ อโทสะ ให้เกิดแล้ว โดยพิเศษ. รัตนะกลางๆ ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งธรรมอันกุศลมูลคือ อโลภะให้เกิดแล้ว. รัตนะหลังอันเดียวพึงทราบว่า สำเร็จด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันกุศลมูล คือ อโมหะ ให้เกิดแล้ว ความย่อในรัตนะเหล่านี้เท่านี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 5 ม.ค. 2553

เรื่อง กัมมปัจจยอุตุสมุฏฐาน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 333

อีกอย่างหนึ่ง ในข้อว่า สมุฏหนติ นี้ พึงทราบเนื้อความอย่างอื่นต่อไป มาติกานี้ของเนื้อความนั้นว่า กมฺมช (รูปเกิดแต่กรรม) กมฺมปจฺจย (มีกรรมเป็นปัจจัย) กมฺมปจฺจยอุตุสมุฏฺาน (รูปมีอุตุเป็นสมุฏฐานเกิดแต่กรรมเป็นปัจจัย)

บรรดาสมุฏฐานแห่งรูปทั้ง ๔ เหล่านั้น รูป ๘ อย่าง มีจักขุประสาท เป็นต้น รวมกับหทยวัตถุ ชื่อว่า กัมมชะ (เกิดแต่กรรม) รูปมีอาทิอย่างนี้คือ ผม หนวด งาช้าง ขนหางม้า ขนหางจามรี ชื่อว่า กรรมปัจจัย (เกิดแต่กรรม) รูปมีอาทิอย่างนี้ว่า จักรรัตนะ อุทยานและวิมานของพวกเทวดาชื่อว่า กัมมปัจจยอุตุสมุฏฐาน (รูปมีอุตุเป็นสมุฏฐานเกิดแต่กรรมเป็นปัจจัย) .

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 5 ม.ค. 2553

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 160

ข้อความบางตอนจาก พาลบัณฑิตสูตร

ว่าด้วยจักรแก้ว

[๔๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ครั้นทอดพระนครแล้วได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า ก็เราได้สดับมาดังนี้แล พระราชาพระองค์ใด ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้น เป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พระราชานั้น ย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต่อนั้น พระองค์เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหลั่งรดจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่าจงพัดผันไปเถิดจักรแก้วผู้เจริญ จักรแก้วผู้เจริญจงพิชิตให้ยิ่งเถิด ลำดับนั้นจักรแก้วนั้นก็พัดผันไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงครอบครองเถิด พระเจ้าจักพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกัน ตามสภาพที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อนั้น จักรแก้วนั้นได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันออกแล้วกลับ ขึ้นพัดผันไปทิศใต้ ฯลฯ …….. ประดิษฐานอยู่เป็นเสมือนลิ่มสลักพระทวารภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิทำให้งดงามอย่างมั่นคงอยู่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏจักรแก้วเห็นปานนี้ แก่พระเจ้าจักรพรรดิ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 5 ม.ค. 2553

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 163

ข้อความบางตอนจาก พาลบัณฑิตสูตร

ว่าด้วยนางแก้ว

[๔๙๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏมีนางแก้วรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่งสัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้น มีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัวเย็นในคราวร้อน มีกลิ่นดังกลิ่นจันทน์ฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก นางแก้วนั้นมีปกติตื่นก่อนนอนที่หลัง คอยฟังคำบัญชา ประพฤติถูกพระทัย ทูลปราศรัยเป็นที่โปรดปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักพรรดิแม้ทางใจ ไฉนเล่า จะมีประพฤติล่วงทางกายได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏนางแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 5 ม.ค. 2553

เรื่อง อาวุธที่ประเสริฐในโลก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 435

นัยว่า อาวุธ ๔ อย่างคือ วชิราวุธของท้าวสักกะ ๑ คทาวุธของท้าวเวสวัณ ๑ นัยนาวุธของพญายม ๑ ทุสสาวุธของอาฬวกยักษ์ ๑ เป็นอาวุธประเสริฐในใลก.

ก็ถ้าท้าวสักกะโกรธ พึงประหารวชิราวุธบนยอดภูเขาสิเนรุ พึงแทงทะลุลงไปภายใต้ได้ตลอด ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์. คทาวุธอันท้าวเวสวัณปล่อยไปในเวลาโกรธ ตีศีรษะของยักษ์หลายพันให้ตกลงแล้ว กลับมาตั้งอยู่ยังเงื้อมมืออีกด้วยเหตุเพียงพญายมโกรธ มองดูด้วยนัยนาวุธ พวกกุมภัณฑ์หลายพัน ล้มพินาศไป เหมือนหญ้าบนกระเบื้องร้อน. ถ้าอาฬวกยักษ์โกรธ พึงปล่อยทุสสาวุธไปในอากาศ ฝนไม่ตกตลอด ๑๒ ปี ถ้าปล่อยไปในแผ่นดินรุกขชาติมีต้นไม้และหญ้าทั้งหมด เป็นต้น เหี่ยวแห้งแล้ว จะไม่งอกขึ้นอีกในระหว่าง ๑๒ ปี. ถ้าปล่อยไปในสมุทร น้ำจะแห้งหมด เหมือนหยาดน้ำบนกระเบื้องร้อน. ถ้าปล่อยไปที่ภูเขาแม้เช่นสิเนรุ ภูเขาพึงกระจายออกเป็นชิ้นใหญ่ชิ้นน้อย.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 9 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ