กุศลจิต...มิตรแท้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รายการโทรทัศน์ "บ้านธัมมะ" วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ ถอดเทปสนทนาธรรม โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล
ท่านผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ ช่วยอธิบาย ลักษณะ และ ความหมายของ "คนพาล"
คุณคำปั่น สำหรับคำว่า "คนพาล" ใครบ้างครับ ที่เป็นคนพาล ถ้ากล่าวถึงตัวบุคคล ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ แต่ถ้ากล่าวถึง สภาพธรรมจริงๆ แล้วก็หมายถึง ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้น เป็น "คนพาล" จริงๆ แล้ว มีรายละเอียดที่หลากหลายมากทีเดียวผู้ที่ไม่รู้ประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เป็นผู้ที่ตัดประโยชน์ตน เป็นผู้ที่ทำร้ายตน และเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็น "คนพาล" คนพาล ตรงกันข้ามกับ "บัณฑิต" ผู้ที่มีปัญญา เป็นคนดี เป็นคนที่คิดดี ทำดี พูดดี ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา นี้คือ "บัณฑิต" นี้คือ ความต่างระหว่าง คนพาล กับบัณฑิต
อาจารย์นิภัทร คำว่า "คนพาล" นี้ วิเคราะห์ศัพท์ ชื่อว่า "พาล" หรือ "คนพาล" คือ ผู้ผลาญ เพราะตัดซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ในชาตินี้ และชาติหน้า ชื่อว่า "คนพาล"
ท่านผู้ฟัง ได้ทราบถึงลักษณะของคนพาลแล้ว แต่ยังสงสัยตรงที่ว่า ในที่ทำงานมีทั้งคนที่ว่า เป็นคนพาล เราก็ไม่อยากจะคบ และถ้าเราไม่อยากคบกับเขา ในพระสูตรนี้ ก็กล่าวว่า เท่ากับว่า ไม่เป็นมิตร ถ้าเราจะ "เลือกคบ" กับใคร ก็ไม่ทำให้เราเกิดกุศลจิต ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านผู้ฟัง ไม่ลืมนะคะ ว่า ใคร เป็น มิตร
ท่านผู้ฟัง กุศล เป็น มิตร ค่ะ
ท่านอาจารย์สุจินต์ ต้องคิดถึงคนอื่นไหมคะ จิตของใครเป็นกุศลขณะไหน ก็เป็นมิตร ขณะนั้น ไม่ใช่ศัตรูรู้จัก "ศัตรูตัวจริง" แล้วใช่ไหม "อกุศลธรรม" เกิดเมื่อไหร่ ขณะนั้นเป็นมิตรไม่ได้เลย
ขออนุโมทนา