การถึงอคติ ๔
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 189
[๒๔๖] การถึงอคติ ๔
๑. ฉันทาคติ ถึงความลำเอียงเพราะความรักใคร่ ๒. โทสาคติ ถึงความลำเอียงเพราะความโกรธ ๓. โมหาคติ ถึงความลำเอียงเพราะความหลง ๔. ภยาคติ ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว. ก็การลุอคติ ๔ เหล่านี้ จะมีขึ้นในการแบ่งสิ่งของและในสถานที่วินิจฉัยอธิกรณ์ ใน ๒ อย่างนั้น จะกล่าวในการแบ่งสิ่งของก่อน เมื่อสิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจถึงแก่พวกภิกษุที่เป็นภาระของตน ในฐานะที่ตนต้องเลี้ยงดู เปลี่ยนสิ่งของนั้น ให้สิ่งของที่ชอบใจ ชื่อว่าลุฉันทาคติ.แต่เมื่อสิ่งของเป็นที่ชอบใจถึงแก่พวกภิกษุที่มิได้เป็นภาระของตน เปลี่ยนสิ่งของนั้นเสีย ให้สิ่งของไม่เป็นที่ชอบใจไป ชื่อว่าลุโทสาคติ. เมื่อไม่รู้วัตถุคือสิ่งของที่ควรจะแบ่งและหลักเกณฑ์ ชื่อว่าลุโมหาคติ. เปลี่ยนให้สิ่งของที่ชอบใจแก่คนปากจัดหรือคนอาศัยพระราชา เป็นต้น เพราะกลัวว่าเมื่อเราให้สิ่งของที่เป็นที่ชอบใจ คนพวกนี้จะพึงทำความพินาศให้ ชื่อว่าลุภยาคติ. แต่ผู้ใดไม่ดำเนินอย่างนี้ เป็นตราชูของตนทั้งปวง วางตนเป็นกลาง มีความพอดี สิ่งใดถึงแก่ผู้ใด ก็ให้สิ่งนั้นแหละแก่ผู้นั้น ผู้นี้ชื่อว่าไม่ลุอคติ ๔ อย่าง. ส่วนในสถานวินิจฉัยอธิกรณ์ พึงทราบดังนี้ กล่าวครุกาบัติของภิกษุผู้เป็นภาระของตน ระบุว่าเป็นลหุกาบัติ ชื่อว่าลุฉันทาคติ. กล่าวลหุกาบัติของภิกษุพวกอื่น ระบุว่าเป็นครุกาบัติ ชื่อว่าลุโทสาคติ. ไม่รู้การออกจากอาบัติและกองอาบัติ ชื่อว่าลุโมหาคติ. กล่าวอาบัติหนักจริงๆ ของภิกษุปากจัด หรือภิกษุที่พระราชาทั้งหลายบูชาระบุว่าเป็นอาบัติเบา เพราะกลัวว่า เมื่อเรากล่าวอาบัติ ระบุว่าเป็นอาบัติหนัก ภิกษุนี้จะพึงทำความพินาศให้ ชื่อว่าลุภยาคติ. แต่ผู้ใดกล่าวตามเป็นจริงทุกอย่างของคนทั้งปวง ชื่อว่าไม่ลุอคติทั้ง ๔ อย่างแล.