พรหม [ท่านผู้ประเสริฐสุด]
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 107
คำว่า พรหม ในบทคาถาว่า พฺรหมาติ มาตาปิตโร นี้ เป็นชื่อของท่านผู้ประเสริฐสุด. พระพรหมจะไม่ละภาวนา ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ฉันใด มารดาบิดาทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะไม่ละภาวนา ๔ ในบุตรทั้งหลาย ภาวนา ๔ เหล่านั้น พึงทราบตามระยะกาลดังต่อไปนี้. อธิบายว่า ในเวลาที่บุตรยังอยู่ในท้อง มารดาบิดาจะเกิดเมตตาจิตอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจะได้เห็นบุตรน้อยปลอดภัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบบริบูรณ์. แต่เมื่อใดบุตรน้อยนั้นยังเยาว์ นอนแบเบาะ มีเลือดไรไต่ตอมหรือนอนกระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องจ้า เมื่อนั้นมารดาบิดาครั้นได้ยินเสียงบุตรนั้น จะเกิดความกรุณา. แต่ในเวลาที่บุตรวิ่งเล่นไปมา หรือในเวลาที่บุตรตั้งอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว มารดาบิดามองดูแล้ว จะมีจิตอ่อนไหว บันเทิง เริงใจเหมือนกับสำลี และปุยนุ่นที่เขายีตั้ง ๑๐๐ ครั้ง หย่อนลงในฟองเนยใสเมื่อนั้น มารดาบิดาจะมีมุทิตา (จิต) แต่เมื่อใด บุตรเริ่มมีครอบครัว แยกเรือนออกไป เมื่อนั้น มารดาบิดาจะเกิดความวางใจ ว่าบัดนี้ บุตรของเราจะสามารถ จะเป็นอยู่ได้ตามลำพัง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เวลานั้น มารดาบิดาจะมีอุเบกขา. ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พฺรหฺมาติมาตาปิตโร ดังนี้