สัมปชัญญะมี ๔ อย่าง

 
JANYAPINPARD
วันที่  28 ม.ค. 2553
หมายเลข  15293
อ่าน  4,765

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 416

บทว่า สมฺปชานการี โหติ ความว่า กระทำกิจทั้งปวงด้วยสัมปชัญญะ หรือกระทำสัมปชัญญะนั่นเอง ด้วยว่า ภิกษุนั้นย่อมกระทำสัมปชัญญะอยู่เสมอในการก้าวไปเป็นต้น มิได้เว้นสัมปชัญญะในกาลไหนๆ .

สัมปชัญญะ ในพระบาลีนั้น มี ๔ อย่าง คือ

๑. สาตถกสัมปชัญญะ

๒. สัปปายสัมปชัญญะ

๓. โคจรสัมปชัญญะ

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ

ใน ๔ อย่างนั้น เมื่อจิตคิดจะไปเกิดขึ้น ยังไม่ทันไปตามที่คิดก่อนใคร่ครวญถึงประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ว่า การไปที่นั้นจะมีประโยชน์แก่เราหรือไม่หนอ แล้วใคร่ครวญประโยชน์ ชื่อ สาตถกสัมปชัญญะ.
คำว่า ประโยชน์ ในบทว่า สาตถกสัมปชัญญะ นั้นคือ ความเจริญฝ่ายธรรมโดยได้เห็นพระเจดีย์ เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ เห็นพระสงฆ์ เห็นพระเถระและเห็นอสุภเป็นต้น. ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chaiyut
วันที่ 17 พ.ย. 2553

ส่วนในการไปนั้น ใคร่ครวญถึงสัปปายะและอสัปปายะ แล้วใคร่ครวญสัปปายะ ชื่อสัปปายสัมปชัญญะ ข้อนี้อย่างไร จะกล่าวการเห็นพระเจดีย์มีประโยชน์ก่อน ก็ถ้าบริษัทประชุมกันในที่ ๑๐ โยชน์ ๑๒ โยชน์เพื่อบูชาใหญ่พระเจดีย์ ทั้งหญิงทั้งชาย ประดับตกแต่งกายตามสมควรแก่สมบัติของตน ราวกะภาพจิตรกรรม พากันเดินไปมา ก็ในที่นั้น โลภะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นเพราะอารมณ์ที่น่าปรารถนา ปฏิฆะย่อมเกิดขึ้นเพราะอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา โมหะย่อมเกิดขึ้นเพราะไม่พิจารณา ย่อมต้องอาบัติเพราะกายสังสัคคะก็มี ย่อมเป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ ก็มี ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ที่นั้นจึงเป็นอสัปปายะ เพราะไม่มีอันตรายอย่างที่กล่าวแล้ว ที่นั้นเป็นสัปปายะ ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 17 พ.ย. 2553

ก็การเลือกอารมณ์กล่าวคือกรรมฐานที่ตนชอบใจในบรรดากรรมฐาน ๓๘ อย่าง แล้วยึดอารมณ์นั้นเท่านั้นไปในที่ที่ภิกขาจาร ของภิกษุผู้ใคร่ครวญถึงประโยชน์และสัปปายะอย่างนี้ ชื่อโคจรสัมปชัญญะ.

เพื่อความแจ่มแจ้งโคจรสัมปชัญญะนั้น บัณฑิตพึงทราบจตุกกะนี้ ดังต่อไปนี้

ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ นำไป ไม่นำกลับ บางรูป นำกลับ ไม่นำไป แต่บางรูป ไม่นำไป ไม่นำกลับ บางรูป นำไปด้วย นำกลับด้วย. ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaiyut
วันที่ 17 พ.ย. 2553

ก็ความไม่หลงในการก้าวไปเป็นต้น ชื่อว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ. อสัมโมหสัมปชัญญะนั้นพึงทราบอย่างนี้ ปุถุชนผู้อันธพาล เมื่อก้าวไปเป็นต้น ย่อมหลงผิดว่า คนก้าวไป การก้าวไป ตนทำให้เกิดขึ้น ดังนี้บ้างว่าเราก้าวไป การก้าวไป เราทำให้เกิดขึ้น ดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุในพระศาสนานี้ไม่หลงผิดฉันนั้น เมื่อจิตคิดว่าเราจะก้าวไปเกิดขึ้น วาโยธาตุซึ่งเกิดแต่จิต ยังวิญญัติให้เกิด ย่อมเกิดขึ้นด้วยจิตนั้นเอง ดังนั้นร่างกระดูกที่สมมติว่ากายนี้ ย่อมก้าวไปด้วยอำนาจความแผ่ไปของวาโยธาตุ อันเกิดแต่พลังงานของจิต ด้วยประการฉะนี้ เมื่อร่างกระดูกนั้นก้าวไปอย่างนี้ ในขณะที่ยกเท้าขึ้นแต่ละข้าง ธาตุทั้ง ๒ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ ย่อมอ่อนกำลังลง. อีก ๒ ธาตุนอกนี้ ย่อมมีกำลังขึ้น. ในขณะที่หย่อนเท้าลงธาตุทั้ง ๒ คือ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมอ่อนกำลังลง อีก ๒ ธาตุนอกนี้ย่อมมีกำลังยิ่งขึ้น. ในขณะที่ปลายเท้าจดพื้นและเหยียบเต็มฝ่าเท้า ก็เช่นเดียวกัน. ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 26 ม.ค. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ