ความเข้าใจ...เรื่องของความเห็นผิด [สักกายทิฏฐิ]

 
พุทธรักษา
วันที่  29 ม.ค. 2553
หมายเลข  15313
อ่าน  1,466

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรม ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ (ถอดเทปบันทึกเสียง โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล)

ข้อความบางตอน ...

มีใจความว่าขณะที่เห็น แล้วคิดว่า เป็นท่านอาจารย์ขณะนั้น "เป็นลักษณะของความเห็นผิด" แล้ว ใช่ไหม ทุกท่านที่เห็น ย่อมเห็นว่าเป็นใคร เป็นอะไรถ้าไม่เช่นนั้น ก็หมายความว่า มีความเห็นผิด กันหมด ในขณะที่เห็น ซึ่งเป็น "ปกติธรรมดา" เมื่อการเห็นเกิดขึ้น ย่อมมีการ "คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา" แล้วก็ต้องรู้ด้วย ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เห็นนั้น เป็นอะไร.
ตามความเป็นจริง เมื่อเห็นแล้ว จะไม่ให้จิตเห็น รู้สิ่งที่เห็น นั้นเป็นไปได้ไหม ... ไม่ได้ ในเมื่อการเห็นเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีการคิดนึกสิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นอน และเมื่อคิดแล้ว ก็ "จำได้" ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นอะไรนี่คือ "ปกติ"

ในขณะที่คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา นั้น "ทิฏฐิเจตสิก" หรือ "ความเห็นผิด" จะเกิด หรือไม่เกิด นั้น รู้ได้ไหม และ รู้ได้เมื่อไร ... รู้ได้ เมื่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ปรากฏเพียงอย่างเดียว ไม่ปะปนกับสภาพธรรมอื่น อย่างนี้ จึงจะรู้ว่า "ความเห็นผิด" ปรากฏแล้วคือ เห็นผิด และ ยึดถือ สภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน.
ความเห็นผิด มีหลายระดับเช่น ขณะที่เชื่อว่า ตัวท่านผู้ฟังเกิดมาได้ เพราะมีผู้สร้างให้เกิดขณะนั้น เป็นความเห็นผิด ซึ่งความเห็นผิดระดับนี้ เป็นขั้นต้นหรือ ขั้นฟัง ขั้นคิด-ขั้นการพิจารณาเป็นเรื่องราวแต่ "ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่มีจริง ว่า เป็นตัวเรา" นั้นเป็นอีกขั้นหนึ่ง คือ เป็นความเห็นผิดอีกระดับหนึ่ง

ขณะที่ท่านผู้ฟังกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ขณะนี้มีอะไรที่เป็นของท่านผู้ฟัง หรือ เป็นตัวของท่านผู้ฟังบ้างไหม ตามความเป็นจริง "ทั้งตัว" หมายความว่า ไม่มี "ตัว" เลย แต่ที่เข้าใจว่า มีตัวของท่านผู้ฟังที่กำลังนั่งอยู่ และ มีการยึดถือว่าเป็นตัวเรา นั้นเป็น "สภาพธรรม" ที่กำลังปรากฏแต่ละขณะๆ ทีละอย่างๆ แต่ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ที่ยึดถือว่าเป็นเรา นั้นยังไม่ปรากฏเป็น "อารมณ์ของสติสัมปชัญญะ"

ขณะที่ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า เป็นตัวของท่านผู้ฟังขณะนั้น มี "สภาพธรรมที่มีลักษณะแข็ง" ปรากฏไหม ขณะที่กำลังพูด "เรื่องของสภาพธรรมที่มีลักษณะแข็ง" และมีลักษณะแข็งจริงๆ แต่ ลักษณะของแข็งยังไม่ปรากฏกับท่านผู้ฟัง ท่านผู้ฟังจะรู้ลักษณะของสภาพแข็งได้ไหม ว่า ขณะนั้น มีการยึดถือสภาพแข็งหรือเปล่า แต่เมื่อใดที่สภาพแข็งปรากฏที่กาย ... กายซึ่งเคยยึดถือ ว่าเป็นกายของเราขณะนั้น เฉพาะสภาพแข็งเท่านั้น ที่กำลังปรากฏ.
เพราะสภาพธรรมปรากฏให้รู้ได้ทีละอย่างๆ ไม่ปะปนกัน ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพแข็งปรากฏทางกาย หมายความว่า ขณะนั้น สภาพธรรมอื่นๆ ต้องไม่ปรากฏทางทวารอื่นเลย

แต่ ถ้าท่านผู้ฟังยังยืนยันว่า สภาพแข็งนั้น เป็นเรา หรือเป็นตัวท่านผู้ฟังนั่น เพราะเหตุว่า มีการจำไว้ ว่า เป็นเราไม่ว่าจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นสิ่งนั้น แต่ใน "ความทรงจำ" ก็คือว่า จำได้ ว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ถ้ากำลังนั่ง ก็คิดว่าเป็นร่างกายที่กำลังนั่ง แล้วมีแข็งปรากฏ หรือ ถ้ากำลังยืน แล้วไม่มีสิ่งใดปรากฏทั้งสิ้น ทั้งโลกมีแต่สภาพแข็งปรากฏ แต่ก็ยังคิดและจำได้ ว่า เป็นท่านผู้ฟังที่กำลังยืน ให้ทราบว่า ขณะนั้น ลักษณะของสภาพแข็ง กำลังเป็นที่ตั้งของความเห็นผิด คือ มีการยึดถือสภาพแข็งที่กำลังปรากฏนั้น ว่า เป็นตัวตนของเรา ขณะนั้น คือ ลักษณะของ "สักกายทิฏฐิ" และควรเข้าใจว่า การรู้ลักษณะของ สักกายทิฏฐิต้องเป็นขณะสภาพธรรมกำลังปรากฏ และ มีการยึดถือสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นตัวตน ด้วย.

เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น และ คิด ไม่ใช่ลักษณะของ สักกายทิฏฐิหรือ ความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นตัวตนเพราะขณะนั้น ไม่ได้ยึดถือด้วยความเห็นผิดแต่เป็นการคิดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏหมายความว่า "ลักษณะที่ปรากฏ" นั้น ต่างกันคือ ขณะคิด ก็คือ คิดเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ขณะที่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิดหมายความว่า เป็นคนละขณะกัน

หากไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏเลย จะรู้ลักษณะของ สักกายทิฏฐิหรือ การยึดถือด้วยความเห็นผิด ได้ไหม จะไปยึดถืออะไรที่ไม่ปรากฏ ... ไม่ได้ ฉะนั้น หากจะรู้ลักษณะของ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ต้องเป็นขณะที่มีสภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่งกำลังปรากฏ และต้องเป็นสภาพธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ที่ปรากฏ และ แม้ว่าจะมีเพียงสภาพธรรมเดียวที่กำลังปราฏ คือไม่มีสภาพธรรมอื่นเลย ก็ยังมีตัวตนของท่านผู้ฟัง ใช่ไหม หมายความว่า ขณะนั้น ยังไม่ได้ "เพิกอิริยาบถ" เพราะยังจำไว้ ว่า มีตัวตนของเรา

แต่ขณะใด ที่มีการรู้ลักษณะของทิฏฐิ ความเห็นผิด ได้จริงๆ ก็คือ ขณะนั้น แม้ไม่มีสิ่งใดเลยในโลก แต่มีสภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง กำลังปรากฏ หมายถึง สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเราขณะนั้น "ลักษณะของทิฏฐิ ความเห็นผิด" ปรากฏให้รู้ได้

การที่จะเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ นั้น ไม่ใช่การพูดรวมๆ แต่ สภาพธรรมปรากฏเมื่อไร แล้วมีการยึดถือสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นเราขณะนั้น จะเห็นลักษณะของการยึดถือ ที่เป็นความเห็นผิด เป็น สักกายทิฏฐิ เช่น สภาพแข็งปรากฏ แล้วยึดถือ ว่า สภาพแข็ง ว่า เป็นเรา เช่น ขณะนี้ สภาพแข็งกระทบทางกาย และ จำได้ ว่าเป็นแขนท่านผู้ฟังก็ยึดถือ ว่าเป็น "แขนของท่านผู้ฟัง" หมายความว่า ไม่ใช่สภาพแข็งอื่น แต่เป็น "แขนของท่านผู้ฟัง" ที่แข็งนั่นคือ "สักกายทิฏฐิ" ความเห็นผิด และยึดถือ ว่าเป็นกายของเรา

ฉะนั้น ขณะใด ที่แม้จะมีสภาพแข็งปรากฏที่กาย ถ้ามี "ปัญญา" จริงๆ ในขณะนั้น "ปัญญา" รู้ ลักษณะของการยึดถือ หรือความเห็นผิด นั้น เมื่อไรเมื่อนั้น ก็จะเกิด "ความเข้าใจ" ว่า ลักษณะการยึดถือ หรือ ความเห็นผิด หรือ สักกายทิฏฐิ มีลักษณะอย่างนั้น คือในขณะที่มีสภาพธรรม เช่น แข็งกำลังปรากฏ แล้วมีการยึดถือ นั่นเอง เพียงแต่ ยังไม่ชัดเจนจริงๆ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเกิดปรากฏแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมาก แต่จะชัดเจนจริงๆ เมื่อสภาพธรรมนั้น ปรากฏเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้า "สภาพแข็ง" (รูป) ปรากฏ ก็ต้องมี "ธาตุที่รู้แข็ง" (จิต) และขณะนั้น ไม่ได้มีการคิดนึกถึง "ธาตุที่รู้แข็ง" เลย ฉะนั้น แม้แต่ "ธาตที่รู้แข็ง" ท่านผู้ฟังก็ยังยึดถือ ว่า เป็นตัวของท่านผู้ฟังด้วย

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า การยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายทั้งจิต เจตสิก รูป ซึ่งก็คือ ขันธ์ทั้ง ๕ ว่า เป็นเรา นั้นมีการยึดถือได้ทั้งหมดเลย เพียงแต่ ขณะที่สภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่ง กำลังปรากฏ ก็มีการยึดถือสภาพธรรมนั้น "ทีละอย่างๆ " เช่น ถ้าสภาพแข็งกำลังปรากฏ แต่ไม่ได้ "เพิกอิริยาบถ"เพราะ"ปัญญา" ไม่รู้สภาพแข็ง ตามความเป็นจริงว่า สภาพแข็ง เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และ ไม่ใช่ตัวเรา ขณะนั้น ต้องไม่มีสภาพธรรมอื่นปรากฏเลยนอกจาก "ลักษณะของสภาพแข็ง" เท่านั้น และยังมีการยึดถือ "เฉพาะลักษณะที่แข็งที่ปราฏตรงนั้น ขณะนั้น" ว่า เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ความหมายของ "ทิฎฐิ" คือ ความเห็นผิดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ "สักกายะ" คือการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ว่าเป็นตัวตนของเรา "สักกายทิฏฐิ" จึงหมายถึง ความเห็นผิด และ การยึดถือว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ที่ปรากฏ ทีละอย่างๆ ว่า เป็นตัวตนของเรา.
.
ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สุภาพร
วันที่ 29 ม.ค. 2553

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
รากไม้
วันที่ 29 ม.ค. 2553

ทุกอย่างล้วนเป็นอนัตตา ที่มันมี เพราะเราคิดว่ามี กรรมเราปรุงแต่งให้เราคิด ถ้าไม่มีกรรม จะมีอะไรเสียได้ นอกจากความว่างเปล่า กรรมคือการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อให้เกิดผลสืบต่อ ถ้าหยุดทำกรรมเสียได้ การเกิดดับก็จะไม่มีอีกต่อไป แต่จะไม่มีใครหยุดทำกรรมได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส

กราบอนุโมทนา ดวงจิตผู้ใกล้พระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
saifon.p
วันที่ 16 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ