ความไม่รู้อยู่ที่ไหน...แล้วเริ่มรู้ได้อย่างไร ?

 
พุทธรักษา
วันที่  29 ม.ค. 2553
หมายเลข  15316
อ่าน  1,265

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรม ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ (ถอดเทปบันทึกเสียง โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล)

ข้อความบางตอน ...

ท่านผู้ฟังส่องกระจกทุกวัน ใช่ไหม มีการหวีผม และ พอใจว่า ผมสวย ขณะนั้น กำลังพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้น เป็น "โลภะ" ไม่ใช่ "ทิฏฐิ" ถ้าเข้าใจ "ลักษณะของทิฏฐิ" คือ เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ "แต่ละอย่าง" ว่า เป็นเรา เช่น สภาพแข็งปรากฏ ก็ยึดถือสภาพแข็งที่ปรากฏ ว่า เป็นเรา

แต่ในชีวิตประจำวัน ตามปกติ นั้น "ลักษณะของทิฏฐิ" ไม่ปรากฏให้รู้ เพราะเหตุว่า ทิฏฐิเจตสิก เกิดดับ เร็วมาก และตราบใด ที่ยังไม่สามารถดับ "ความเห็นผิด" ได้เป็นสมุจเฉทความเห็นผิด หรือ การยึดถือสภาพธรรม ว่า เป็นเรา ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกเมื่อสภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฏ

"โลภเจตสิก" จึงมีลักษณะต่างกับ "ทิฏฐิเจตสิก" และสามารถรู้ความต่างนั้นได้ เมื่อเข้าใจ "ธรรมะ" แต่ถ้าสนใจเพียง "โลภเจตสิก" หรือ "ทิฏฐิเจตสิก" แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่เป็น "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริงๆ ก็ไม่สามารถที่หมดความสงสัย ในสภาพธรรม ได้เพราะว่า แม้แต่ ขณะที่กำลังฟัง ก็ยังเป็นเรา ที่ฟัง

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ กำลังมีสิ่งที่มีจริงๆ มีเห็น มีได้ยิน นั่นคือ "ธรรมะ" ควรเข้าใจว่า "ธรรม" คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ ในขณะนี้ ความเข้าใจ เริ่มจาก "ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง" ไม่ว่าจะฟังเข้าใจได้แค่ไหนก็ตาม ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ สะสมความเข้าใจ "ธรรมะ" ตามปกติ ตามความเป็นจริง เช่น ขณะนี้ มีเห็น มีได้ยิน ฯ เกิดปรากฏเพียงนิดเดียว แล้วดับไปอย่างรวดเร็วแล้วก็มีการคิดนึกต่อ นั่นเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ เข้าใจได้ ว่า ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมคนละประเภท คนละลักษณะ ปรากฏทีละขณะ ไม่ปะปนกันค่อยๆ สะสมความเข้าใจ อย่างนี้

เพราะฉะนั้นขั้นต้น ก็คือรู้ว่า "ธรรม" มีจริงๆ เช่นการเห็น มีจริง การได้ยินมีจริงและพิสูจน์ "ธรรมะ" ว่า มีจริงได้ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ฯ เช่น ขณะนี้ มีการเห็น และรู้ ว่ามีการเห็น แต่ยังไม่รู้ความจริงของสภาพเห็นเพราะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ลึกซึ้ง และ เห็นยาก. ในขั้นต้น จึงยังไม่สามารถที่จะเข้าถึง "ความลึกซึ้งของธรรมะ" ได้แต่ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ได้ ว่า ขณะที่การเห็นเกิดขึ้น ปรากฏ การเห็นเท่านั้น ที่ปรากฏ ไม่มีสภาพธรรมอื่น ปรากฏ.
นี่คือ การเริ่มเข้าใจ "การเห็น" เมื่อการเห็นปรากฏ ก็เข้าใจ "สภาพธรรมที่เห็น" ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น ที่เกินกว่านี้

"การเห็น เป็น "ธรรมะ" ไม่ต้องเรียกชื่ออะไร ก็รู้ว่า มีการเห็น แต่ เพราะไม่คุ้นเคยกับ "ความจริงของสภาพเห็น" ฉะนั้น ทั้งๆ ที่เห็น ก็ไม่รู้ว่า เห็นเป็นอะไร นี่คือ "ความไม่รู้ นี่คือ "อวิชชา" ... "อวิชชา" คือ ความไม่รู้ ความไม่รู้ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในขณะที่กำลังไม่รู้ "ความจริงของธรรมะ" หรือ สิ่งที่มีจริง นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ควรรู้ว่า สภาพธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ก่อนแล้วค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้ละเอียดขึ้นๆ ความไม่รู้ คือ อวิชชาความไม่รู้ สะสมอยู่ที่จิตทุกขณะ มานานแสนนานและ ความไม่รู้นี้ ก็ยังสะสมอยู่ในจิต และสะสมเพิ่มขึ้นๆ ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อ "ปัญญา" ยังไม่รู้ความจริงเพิ่มขึ้นความไม่รู้ ก็ยังคงอยู่ ลึก และ ละเอียดแม้แต่ขณะที่กำลังหลับ ก็มีความไม่รู้แต่ เพราะไม่ปรากฏให้รู้ จึงไม่รู้ว่ามี

ขณะใดที่ตื่นขึ้นมา แล้วมีการเห็น ได้ยินฯ ปรากฏแล้วก็ยังไม่รู้ "ความจริง" ของการเห็น หรือ การได้ยินฯ ที่ปรากฏขณะนี้ และ ไม่รู้ว่า เป็น "ธรรมะ" คือ ไม่รู้ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ฉะนั้น จึงควรฟัง "ธรรม" ให้เข้าใจเสียก่อนควรเข้าใจความหมายของ "ธรรมะ" ก่อน การที่จะศึกษา และ เข้าใจความหมายของ "ธรรมะ" ได้ควรทราบก่อน ว่า "ธรรมะ" คือ อะไร และ อยู่ที่ไหน การศึกษา "ธรรมะ" คือ ศึกษาให้เข้าใจ "สิ่งที่มีจริง" ที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่น ที่ไม่ปรากฏ ในขณะนี้
.
ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
รากไม้
วันที่ 29 ม.ค. 2553

ความไม่รู้ สะสมอยู่ในจิตทุกขณะ มานานแสนนาน เป็นความจริงที่สุดเลยครับ และเป็นความไม่รู้ ที่ยากแสนจากที่จะทำลายเสียด้วย ถ้าขจัดอกุศลจิต ออกไม่หมด ก็ไม่มีทางพ้นสภาพความไม่รู้ ที่ว่านี้เลย

ขออนุโมทนา ดวงจิตผู้ใกล้พระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ตะวัน
วันที่ 29 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

ขออนุโมทนา

ใช้คำว่า สะสมความเข้าใจ เหมาะกับตัวเองมากที่สุดครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
narong.p
วันที่ 30 ม.ค. 2553

อ่านแล้วทำให้เกิดความเข้าใจว่า การศึกษาธรรม ควรรู้อะไรก่อน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Komsan
วันที่ 30 ม.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Sam
วันที่ 30 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ