อธิบายธาตุ ๔ [อภิธัมมัตถสังคหบาลี]
อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวีนีฎีกา - หน้าที่ 271
[อธิบายธาตุ ๔]
(ธาตุ) ชื่อว่าปฐวี เพราะอรรถว่า เป็นที่รองรับฯ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ย่อมปรากฏ คือเข้าไปตั้งอยู่โดยเป็นที่อาศัยของรูปที่เกิดร่วมกัน เหมือนปฐพีปกติเป็นไปที่อาศัยของต้นไม้และภูเขาเป็นต้นฯ ชื่อว่าปฐวีธาตุ ด้วยอรรถว่า เป็นธาตุ เพราะทรงลักษณะของตนไว้ เป็นต้น เพราะอรรถว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีพ และเพราะเป็นเช่นกับธาตุอันเป็นส่วนแห่งสรีระและภูเขา คือ ปฐวีฯ
ชื่อว่าอาโป ด้วยอรรถ ว่า เอิบอาบ คือซึมซาบรูปที่เกิดร่วมกัน หรือด้วยอรรถว่า เพิ่มพูนคือพอกพูนให้เจริญฯ
ชื่อว่าเตโช ด้วยอรรถว่า ให้ร้อน คือให้อบอุ่น หรือให้เข้มแข็ง คือให้ภูตรูปทั้ง ๓ ที่เหลืออุ่นอยู่ โดยภาวะเป็นสภาพแรงกล้าฯ
ชื่อว่าวาโย ด้วยอรรถว่า เคลื่อนไหว คือให้ประชุมแห่งภูตรูปเคลื่อนที่โดยเป็นเหตุเกิดปรากฏ (แห่งรูป) ในที่อื่นฯ พึงเข้าใจว่า ก็ธาตุทั้ง ๔ นี้ มีลักษณะเป็นของเข้มแข็งเป็นเหลว เป็นความอบอุ่น และเป็นอาการเคลื่อนไหวตามลำดับฯ
ธาตุดิน มีความกระด้างเป็นลักษณะ มีการตั้งมั่น เป็นกิจ มีการเป็นที่รองรับ เป็นผล มีธาตุ ๓ ที่เหลือ เป็นปทัฏฐาน
ธาตุน้ำ มีการไหลหรือเกาะกุมเป็นลักษณะ มีการเข้าไปพอกพูน เป็นกิจ มีการยึดไว้เป็นอาการปรากฏ (ผล) มีธาตุ ๓ ที่เหลือ เป็นปทัฏฐาน
ธาตุไฟ มีความร้อนเป็นลักษณะ มีการเผาลน เป็นกิจ มีการทำให้อ่อนเป็นอาการปรากฏ มีธาตุ ๓ ที่เหลือ เป็นปทัฏฐาน
ธาตุลม มีการเคร่งตึงเป็นลักษณะ มีการไหว เป็นกิจ มีการนำออกเป็นอาการปรากฏ มีธาตุ ๓ ที่เหลือ เป็นปทัฏฐาน