คาถาของพระสัพพมิตตเถระ [สัพพมิตตเถรคาถา]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 66
๕. สัพพมิตตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสัพพมิตตเถระ
[๒๗๒] ได้ยินว่า พระสัพพมิตตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า คนเกี่ยวข้องในคน คนยินดีกะคน คนถูกคน เบียดเบียน และคนเบียดเบียนคน ก็จักต้องการอะไร กับคน หรือกับสิ่งที่คน ทำให้เกิดแล้ว แก่คนเล่า ควรละคนที่เบียดเบียนคน เป็นอันมากไปเสีย. อรรถกถาสัพพมิตตเถรคาถา
คาถาของท่านพระสัพพมิตตเถระ เริ่มต้นว่า ชโน ชนมฺหิ สมฺพทฺโธเรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการ อันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้า องค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลของนายพราน ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ติสสะ ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ เป็นพรานป่า ฆ่าเนื้อในป่ากินเนื้อเลี้ยงชีวิต.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงอนุเคราะห์เขา จึงทรง แสดงรอยพระบาท ไว้ในที่ใกล้ที่เขาอยู่ ๓ รอย แล้ว เสด็จหลีกไป. เขาเห็นรอยพระบาท มีเครื่องหมายเป็นรูปกงจักร เพราะมีการสั่งสมอันกระทำไว้ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีตกาล มีใจเลื่อมใส ทำการบูชาด้วยดอกหงอนไก่ บังเกิดในภพดาวดึงส์ด้วยบุญกรรมนั้น ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า สัพพมิตตะ. เขาบรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว เห็นพุทธานุภาพ ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับมอบพระวิหาร ชื่อว่า เชตวัน เป็นผู้มีศรัทธาจิต บวชแล้ว เรียนกรรมฐานอยู่ในป่า เข้าจำพรรษาแล้ว ออกพรรษาแล้ว ไปสู่พระนครสาวัตถี เพื่อถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้เห็นลูกเนื้อติดอยู่ในบ่วง ที่นายพรานเนื้อดักไว้ในระหว่างทาง ส่วนนางเนื้อผู้เป็นแม่ของลูกเนื้อนั้น ไม่ติดบ่วง (และ) ไม่หนีไปไกล เพราะความรักห่วงใยในลูก (แต่) ไม่กล้าเข้าไปใกล้บ่วง เพราะกลัวตาย ส่วนลูกเนื้อหวาดกลัว ดิ้นวนไปวนมาข้างโน้น ข้างนี้ ร้องขอความกรุณา. พระเถระเห็นดังนั้นแล้วคิดว่า โอ! ทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย มีความรักห่วงใยเป็นเหตุดังนี้ แล้วเดินต่อไป ต่อจากนั้นเมื่อโจรจำนวนมาก จับบุรุษคนหนึ่งได้ เอาฟ่อนฟางพันร่างกาย เผาทั้งเป็น และเห็นบุรุษนั้นร้องเสียงดังลั่น อาศัยเหตุ ๒ อย่างนั้น เกิดความสลดใจ เมื่อโจรทั้งหลายกำลังฟังอยู่นั้นแล ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า คนเกี่ยวข้องในคน คนยินดีกะคน คนถูกคน เบียดเบียน และคนเบียดเบียนคน ก็จักต้องการอะไร กับคน หรือกับสิ่งที่คนทำให้เกิดแล้ว แก่คนเล่า ควร ละคนที่เบียดเบียนคน เป็นอันมากไปเสีย ดังนี้.