มานะ [ธรรมสังคณี]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  3 ก.พ. 2553
หมายเลข  15369
อ่าน  1,597

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 38

.....ในบรรดาองค์เหล่านั้น สภาวะที่ชื่อว่ามานะ เพราะอรรถว่า ย่อมถือตัว. มานะนั้นมีการทรนงตนเป็นลักษณะ (อุนฺนติลกฺขโณ) มีการยกย่องสัมปยุตธรรมเป็นรส (สมฺปคฺคหนรโส) มีความปรารถนาดุจธงเป็นปัจจุปัฏฐาน (เกตุกมฺยตาปจฺจุปฏฺฐาโน) มีโลภะไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน (ทิฏฐิวิปฺปยุตตโลภปทฏฺฐาโน) พึงทราบว่า เหมือนคนบ้า.

[๗๒๒] มานสัญโญชน์ เป็นไฉน

การถือตัว ว่าเราดีกว่าเขา ว่าเราเสมอกับเขา ว่าเราเลวกว่าเขาการถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความถือตัว มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด [และ] การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกจิตขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง นี้เรียกว่า มานสัญโญชน์.

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 426

แต่ในนิทเทสมานะข้อที่หนึ่งในขุททกวัตถุวิภังค์ ตรัสว่า มานะหนึ่ง ย่อมเกิดแก่ชนทั้ง ๓. ที่ชื่อว่า มานะ (ความถือตัว) ด้วยอำนาจการทำความถือตัว.

บทว่า มญฺญนา มญฺญิตตฺตํ (กิริยาที่ถือตัว ความถือตัว) นี้เป็นการชี้แจงถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่า อุนฺนติ การยกตน) โดยความหมายว่าเทิดทูน.

ที่ชื่อว่า อุนฺนาโม (การเชิดชูตน) เพราะอรรถว่า มานะย่อมยังบุคคลผู้เกิดมานะให้พอง คือยกให้ตั้งขึ้น ที่ชื่อว่า ธโช (ดุจธง) โดยความหมายว่าเชิดชูขึ้นแล้ว.

ที่ชื่อว่า สมฺปคฺคาโห (การยกจิตขึ้น) เพราะอรรถว่าย่อมประคับประคองจิตโดยความหมายว่า การยกขึ้น.

บรรดาธงทั้งหลายมากธงที่ยกขึ้นสูง ตรัสเรียกว่า เกตุ (ธง) เพราะว่ามานะเมื่อเกิดบ่อยๆ เพราะอาศัยมานะต่อๆ มาก็เป็นเหมือนธง เพราะอรรถว่ายกขึ้นไว้สูง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เหมือนธง.

จิตใดย่อมต้องการมานะเหมือนธง เพราะฉะนั้น จิตนั้นจึงชื่อว่า เกตุกมฺยํ (ปรารถนาดุจธง) ภาวะแห่งเกตุกัมยะนั้น ชื่อว่า เกตุกมฺยตา (ความที่จิตต้องการดุจธง) ก็ความที่จิตต้องการดุจธงนั้นเป็นของจิต มิใช่เป็นของอัตตา ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เกตุกมฺยตา จิตฺตสฺส (ความที่จิตต้องการดุจธง) อธิบายว่า จิตสัมปยุตด้วยมานะย่อมปรารถนาดุจธงและภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่า เกตุกมฺยตา คือ มานะที่นับว่าเป็นดุจธง.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
BudCoP
วันที่ 17 พ.ค. 2553

นโม ธมฺมสฺส ปาลิตภาสสฺส

ขอนอบน้อมแด่ภาษาที่รักษาพระสัทธรรม

1. (ทิฏฐิวิปฺปยุตตฺตโลภปทฏฺฐาโน) -> (ทิฏฐิวิปฺปยุตฺตโลภปทฏฺฐาโน)

2. อุณฺณาโม -> อุนฺนาโม

3. อุณฺณติ -> อุนฺนติ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 17 พ.ค. 2553
ขออนุโมทนาครับ เนื่องจากฉบับซีดีรอม อักษรผิดตกมากพอสมควร
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 13 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ