เหมือนๆจะรู้แต่ไม่รู้ เหมือนๆจะเข้าใจแต่ไม่เข้าใจ
เวลาที่ดิฉันฟัง และอ่านธรรมะ..บางครั้งก็มีความซาบซึ้งตามข้อความนั้นแต่พอจะระลึกย้อนกลับเพื่อจะให้เกิดการเข้าใจอีกเหมือนที่เกิดความรู้สึกเดิมก็ไม่ได้ซะแล้ว (เวลาเข้าใจจะรู้สึกสุขสบายใจ คลายความข้องใจ) ไม่ทราบว่าดิฉันควรเริ่มฝึกหัดให้ความจำเกิดประสิทธิภาพไงได้บ้างคะ
ขอโทษนะคะถ้าดิฉันพูดไม่เข้าใจ
สังขารธรรมทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เมื่อดับไปแล้วจะเรียกร้องให้กลับมาอีกย่อมไม่ได้ ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย สำหรับเรื่องความทรงจำ ในสมัยครั้งพุทธกาลมีท่านพระอานนท์เป็นเลิศทางทรงจำ เพราะท่านมีจิตสงบไม่มีนิวรณ์มารบกวน ฉะนั้น ความทรงจำของผู้ที่มีจิตสงบ ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะย่อมทรงจำได้ดี
ท่านอาจารย์สุจินต์เน้นเรื่องการฟังธรรมะให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ลืม ซึ่งต่างกับจำเพราะว่าธรรมะก็มีหลายสูตรมากมาย เราคงจำไม่หมด แต่ถึงจำได้ ตายไปแล้วก็ลืม แต่ความเข้าใจจะสะสมและติดตามไปในชาติหน้า เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีหลายขั้น ขั้นแรกอยากให้เข้าใจก่อนว่า มีสติและหลงลืมสติต่างกันอย่างไร ที่สำคัญให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ เป็นของจริง เช่น เห็นมีจริง เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นต้น
โลภะ จะอยู่ข้างๆ อยู่ใกล้ๆ เป็นเหมือนเพื่อนสนิท เป็นเหมือนอาจารย์ เป็นเหมือนลูกศิษย์ ขณะที่ต้องการเข้าใจ ต้องการปัญญา) หรือต้องการ ความรู้สึกเหมือนเดิม ให้ทราบว่า เป็นโลภะ ซึ่งรู้ทันได้ยากจริงๆ ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ศึกษา พิจารณาสภาพธรรมนั้นๆ ไป เรื่อยๆ ถ้าความอยากได้ปัญญา อยากได้กุศลเกิดขึ้นอีก ก็บังคับบัญชาไม่ได้ละไม่ได้ มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น สติปัฏฐานสามารถเกิดขึ้น ระลึกได้ครับ