บัญญัติ ชื่อว่า กาล
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 219
บัญญัติ ชื่อว่า กาล เพราะอาศัยธรรมนั้นๆ ก็กาลนั้น เป็นเพียงโวหาร (มิใช่ปรมัตถ์) กองแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นการพร้อมเพรียง (สมูหะ) .
บัญญัติ ชื่อว่า กาล เพราะอาศัยธรรมนั้นๆ อย่างนี้ คือ เพราะอาศัยธรรมทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า จิตฺตกาโล (กาลแห่งจิต) รูปกาโล (กาลแห่งรูป) หรือเพราะอาศัยการประพฤติธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า อตีตธรรม อนาคตธรรม หรือเพราะอาศัยลำดับแห่งธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า กาลนี้เป็นกาลแห่งพืช กาลนี้เป็นกาลแห่งหน่อ
หรือเพราะอาศัยลักษะแห่งธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า นี้เป็นกาลเกิด นี้เป็นกาลแก่ หรือเพราะอาศัยกิจแห่งธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า กาลเป็นที่เสวยอารมณ์ กาลเป็นที่จำอารมณ์ หรือ เพราะอาศัยกิจที่สัตว์ต้องทำโดยนัยเป็นต้นว่า นี้เป็นกาลอาบน้ำ เป็นกาลดื่มน้ำหรือเพราะอาศัยอิริยาบถโดยนัยเป็นต้นว่า กาลที่เดิน กาลที่ยืน หรือเพราะอาศัยการหมุนเวียนของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โดยนัยเป็นต้นว่า กาล (เวลา) เช้า เย็น กลางวัน กลางคืน หรือเพราะอาศัยการประชุมแห่งกาล กล่าวคือ กลางวันและกลางคืนเป็นต้น โดยนัย ครึ่งเดือน หนึ่งเดือนเป็นต้น. ก็กาลนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเพียงบัญญัติเท่านั้น เพราะไม่มีสภาวะ (ภาวะของตน) .