ทรงโอวาทพระราหุล [จูฬราหุโลวาทสูตร]
[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 265
ข้อความบางตอนจาก
ทรงโอวาทพระราหุล
[๑๒๘] ดูก่อนราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร. มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า. ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ.
กรรม ๓
[๑๒๙] ดูก่อนราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมนั้นเธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ
ดูก่อนราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกายโดยส่วนเดียว แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กายกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำด้วยกาย
[๑๓๐] ดูก่อนราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา เธอพึงพิจารณาวจีกรรมนั้นเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตน และผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตน และผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้นเธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว
[๑๓๑] ดูก่อนราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ เธอพึงพิจารณามโนกรรมนั้นเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ มโนกรรรมเห็นปานนี้ เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว