เจ้าสุปปพุทธะทำกรรมหนัก [คาถาธรรมบท]
เรื่อง เมื่อกรรมที่จะตายให้ผล ระวังอย่างชาวโลก (อกุศล) อย่างไรก็ไม่พ้น
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓- หน้าที่ 61
ข้อความบางตอนจาก
เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ [๑๐๖]
เจ้าสุปปพุทธะทำกรรมหนักจักถูกแผ่นดินสูบ
แม้พระศาสดาเสด็จกลับมา ทรงทำการแย้มพระโอฐ พระอานนทเถระทูลถามว่า "อะไรหนอแล เป็นปัจจัยแห่งกรรม คือ การแย้มพระโอฐ ให้ปรากฏ พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอเห็นเจ้าสุปปพุทธะ ไหม" พระอานนทเถระ. ทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า" พระศาสดา ตรัสว่า "เจ้าสุปปพุทธะนั้นไม่ให้ทางแก่พระพุทธเจ้า ผู้เช่นเรา ทำกรรมหนักแล้ว ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ ท้าวเธอจักเข้าไปสู่แผ่นดิน (ธรณีสูบ) ณ ที่ใกล้เชิงบันได ในภายใต้ปราสาท"
เจ้าสุปปพุทธะมุ่งจับผิดพระศาสดาด้วยคำเท็จ
จารบุรุษได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ไปสู่สำนักของเจ้าสุปปพุทธะๆ ตรัสถามว่า "หลานของเราเมื่อกลับไปพูดอะไรบ้าง" จึงกราบทูลตาม ที่ตนได้ยินแล้ว. ท้าวเธอได้สดับคำของจารบุรุษนั้นแล้ว ตรัสว่า " บัดนี้ โทษในการพูด (ผิด) แห่งหลานของเราย่อมไม่มี เธอตรัสคำใด คำนั้นต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทีเดียว. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น คราวนี้ เราจักจับผิดเธอ ด้วยการพูดเท็จ. เพราะเธอไม่ตรัสกะเราโดยไม่เจาะจงว่า 'ท่านสุปปพุทธะจักถูกธรณีสูบในวันที่ ๗ ' ตรัสว่า ' ท่านสุปปพุทธะจักถูกธรณีสูบ ที่ใกล้เชิงบันได ในภายใต้ปราสาท ' ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักไม่ไปสู่ที่นั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้น เราไม่ถูกธรณีสูบในที่นั้นแล้ว จักข่มขี่เธอด้วยการ พูดเท็จ"
เจ้าสุปปพุทธะทรงทำการรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง
ท้าวเธอรับสั่งให้พวกมหาดเล็กขนเครื่องใช้สอยของพระองค์ออกทั้งหมดไว้บนปราสาท ๗ ชั้น ให้ชักบันได ปิดประตู ตั้งคนแข็งแรง ประจำไว้ที่ประตู ประตูละ ๒ คน ตรัสว่า "ถ้าเราเป็นผู้มุ่งจะลงไปข้างล่างโดยความประมาทไซร้ พวกเจ้าต้องห้ามเราเสีย" ดังนี้แล้วประทับนั่งในห้องอันเป็นสิริบนพื้นปราสาทชั้นที่ ๗
จะหนีผลแห่งกรรมชั่วย่อมไม่พ้น
พระศาสดา ทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย เจ้าสุปปพุทธะมิใช่จะนั่งบนพื้นปราสาทอย่างเดียว, ต่อให้เหาะขึ้นไปสู่เวหาส นั่งในอากาศก็ตาม. ไปสู่สมุทรด้วยเรือก็ตาม. เข้าซอกเขาก็ตาม, ธรรมดา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสองไม่มี, ท้าวเธอจักถูกธรณี สูบในสถานที่เราพูดไว้นั่นแหละ " เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึง ตรัสพระคาถานี้ว่า
"บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้. หนีไปสู่ซอกภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ) เขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด ความตายพึงครอบงำไม่ได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่"
ม้ามงคลเป็นเหตุให้ท้าวเธอเสด็จลงจากปราสาท
ในวันที่ ๗ ในเวลาคล้ายกับเวลาที่เจ้าสุปปพุทธะปิดหนทางภิกษาจารของพระศาสดา ม้ามงคลของเจ้าสุปปพุทธะ ในภายใต้ปราสาทคึกคะนอง กระแทกแล้วซึ่งฝานั้นๆ
ท้าวเธอประทับนั่งอยู่ชั้นบนนั่นเอง ได้สดับเสียงของม้านั้น จึงตรัสถามว่า "นั่นอะไรกัน" พวกมหาดเล็กทูลว่า "ม้ามงคลคะนอง" ส่วนม้านั้น พอเห็นเจ้าสุปปพุทธะ ก็หยุดนิ่ง
เกิดเหตุน่าประหลาดเพราะกรรมชั่ว
ขณะนั้น ท้าวเธอมีพระประสงค์จะจับม้านั้น ได้เสด็จลุกจากที่ประทับบ่ายพระพักตร์มาทางประตู. ประตูทั้งหลายเปิดเองทีเดียว บันไดตั้งอยู่ในที่ของตนตามเดิม. คนแข็งแรงผู้ยืนอยู่ที่ประตูจับท้าวเธอที่พระศอ ผลักให้มีพระพักตร์คะมำลงไป. โดยอุบายนั้นประตูที่พื้นทั้ง ๗ ก็เปิดเอง ทีเดียว บันไดทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในที่เดิม. พวกคนที่แข็งแรง (ประจำอยู่) ที่ชั้นนั้นๆ จับท้าวเธอที่พระศอเทียว แล้วผลักให้มีพระพักตร์คะมำลงไป. ท้าวเธอถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีนรก ขณะนั้น มหาปฐพีแตกแยกออกคอยรับเจ้าสุปปพุทธะนั้นผู้ถึงที่ ใกล้เชิงบันได ที่ภายใต้ปราสาทนั่นเอง. ท้าวเธอไปบังเกิดในอเวจีนรก แล้วแล
เรื่องเจ้าสุปปพุทธศากยะ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์