ถามเรื่องโลภมูลจิตดวงที่ 1 ที่เป็นนเหตุ
๑. คำว่า นเหตุ หมายถึง ธรรมที่ไม่ใช่เหตุ กล่าวคือ ไม่ใช่เหตุ ๖ เหตุ ดังนั้นธรรมใด ที่ไม่ใช่เหตุ ๖ เหตุ ธรรมนั้น ชื่อว่า นเหตุ (โดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่จิตทั้งหมด เจตสิก ๔๖ ประเภท, รูปทั้งหมด และ นิพพาน เป็น นเหตุ) ๒. ก่อนอื่นต้องเข้าใจความต่างระหว่าง เหตุ กับ นเหตุ ก่อนว่า เหตุ ได้แก่เจตสิก๖ ประเภท (ที่เป็นเหตุ) คือ โลภะ, โทสะ, โมหะ, อโลภะ, อโทสะ และ อโมหะ ส่วนสภาพธรรมที่เหลือทั้งหมด เป็น นเหตุ ดังนั้น ที่กล่าวโดยนัยนี้ ไม่ต้องมี กะ ต่อท้ายเพราะถ้ามี กะ ต่อท้าย จะมุ่งอธิบายอีกนัยหนึ่ง และ ความหมายจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเข้าใจ ความต่างระหว่าง เหตุ กับ นเหตุ แล้ว ต่อไปก็จะสามารถเข้าใจถึงสเหตุกะ และ อเหตุกะ ได้ เพราะตามศัพท์แล้ว สเหตุกะ หมายถึง มีเหตุเกิดร่วมด้วย ธรรมใดก็ตามที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ธรรมนั้น ชื่อว่า สเหตุกะ เช่น โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) โดยสภาพของจิตแล้ว เป็น นเหตุ (ไม่ใช่เหตุ) แต่โลภมูลจิต เป็นจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย นั่นก็คือ มีโลภเหตุ และ มีโมหเหตุ เกิดร่วมด้วย ดังนั้น โลภมูลจิตจึงชื่อว่า สเหตุกะ (มีเหตุเกิดร่วมด้วย) เป็นต้น
ส่วน คำว่า อเหตุกะ หมายถึง ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ธรรมใดก็ตาม ที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ธรรมนั้น ชื่อว่า อเหตุกะ (ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย) เช่น จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น ไม่มีเหตุใดๆ ในบรรดาเหตุ ๖เกิดร่วมด้วยเลย ดังนั้น จักขุวิญญาณ จึงชื่อว่า อเหตุกะ และ เจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ ก็ชื่อว่า อเหตุกะ ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นต้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด จึงต้องเป็นผู้ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจในพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ และ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สรุปคือ สภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือเจตสิก 6 ดวง (โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ
อโมหะ) โลภมูลจิต เป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก 6 ดวงนี้จึงเป็น นเหตุ (ไม่ใช่เหตุ) โลภมูลจิต
อีก 7 ดวงที่เหลือเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก 6 ดวงนี้จึงเป็นนเหตุ เช่นกันครับ ขออนุโมทนา