ปฐมอาฆาตวินยสูตร - ทุติยอาฆาตสูตร - o๘ ก.ค. ๒๕๔๙
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.
ปฐมอาฆาตวินยสูตร
ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
จาก..
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
ทุติยอาฆาตสูตร
ว่าด้วยเหตุกำจัดความอาฆาต ๙ ประการ
จาก..
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 817
นำการสนทนาโดย..
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไปนะครับ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
อาฆาตวรรคที่ ๒
๑. ปฐมอาฆาตวินยสูตร
ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
[๑๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑
ภิกษุพึงระงับ ความอาฆาต ในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้
จบปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑
อาฆาตวรรควรรณนาที่ ๒
อรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
ชื่อว่า อาฆาตวินยะ เพราะอรรถว่า สงบระงับอาฆาต
บทว่า ยตฺถ ภิกฺขุโน อุปปนฺโน อาฆาโต สพฺพโส ปฏิเนตพฺโพ ความว่า ความอาฆาตเกิดขึ้นแก่ภิกษุในอารมณ์ใด พึงระงับความอาฆาตทั้งหมดนั้นในอารมณ์นั้นด้วยอาฆาตปฏิวินัย (ธรรมระงับอาฆาต) ๕ เหล่านี้
บทว่า เมตฺตา ตสฺมึ ปุคฺคเล ภาเวตพฺพา ความว่า พึงเจริญเมตตาด้วยติกฌาน (ฌานหมวด ๓) และจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) แม้ในกรุณาก็นัยนี้เหมือนกัน แต่อุเบกขาควรเจริญด้วยจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) และปัญจกฌาน (ฌานหมวด ๕) ก็เพราะจิต (อาฆาต) ของผู้ที่เห็นบุคคลใดยังไม่ดับ มุทิตาจึงไม่ปรากฏในบุคคลนั้น ฉะนั้นท่านจึงไม่กล่าวถึงมุทิตา
บทว่า อสติ อมนสิกาโร ได้แก่ พึงตัดความระลึกถึงในบุคคลนั้นโดยอาการที่บุคคลนั้นไม่ปรากฏเป็นเหมือนเอาฝาเป็นต้น กั้นไว้ ฉะนั้น
บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยกล่าวไว้แล้วในหนหลัง
จบ อรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 817
๑๐. ทุติยอาฆาตสูตร
ว่าด้วยเหตุกำจัดความอาฆาต ๙ ประการ
[๒๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้ ๙ ประการเป็นไฉน คือ
บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตได้ด้วยคิดว่า คนโน้นได้ประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เราแล้วเพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์ในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นย่อมประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชนในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นจักประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์ในบุคคลนี้เล่า ๑
บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาต ด้วยคิดว่าคนโน้นได้ประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้ ๑
คนโน้นย่อมประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นจักประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในกาลนี้เล่า ๑
บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยคิดว่า คนโน้นได้ประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นย่อมประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราเพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นจักประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราเพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้แล
จบ ทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐
อรรถกถาทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐
ทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
บทว่า อาฆาตปฏิวินยา ได้แก่ เหตุแห่งการกำจัดความอาฆาต
บทว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา ความว่า เราจะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ไหน คือ เราสามารถจะได้ด้วยเหตุไรว่า การประพฤติไม่เป็นประโยชน์นั้น อย่าได้มีแล้วดังนี้ อธิบายว่า บุคคลคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาคนอื่นจะทำความฉิบหายแก่คนอื่นตามความชอบใจของตน ดังนี้แล้วกำจัดความอาฆาตเสียได้ อีกอย่างหนึ่ง หากเราพึงทำความโกรธตอบ การทำความโกรธนั้นเราจะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ไหน อธิบายว่า เราสามารถจะได้ด้วยเหตุไร ปาฐะว่า ตํ กุโต ลาภา ดังนี้ก็มี ความว่า หากเราพึงทำความโกรธในบุคคลนี้ ในการทำความโกรธของเรานั้น จะพึงได้อะไรแต่ไหน อธิบายว่า ชื่อว่า จะพึงได้อะไรมา
บทว่า ตํ ในอรรถนี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น
จบ อรรถกถาทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐