วิจิกิจฉา [ธรรมสังคณี]
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 341
[๖๗๒] วิจิกิจฉา เป็นไฉน
ปุถุชนเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปบาทธรรมที่ว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ อันใด นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา
การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ได้รับกุศลวิบาก อกุศลวิบาก ประการหนึ่ง คือ คติ คือ ภพภูมิที่เกิด หากเกิดในสุคติภูมิย่อมจะเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของกุศลกรรมได้มากกว่าทุคติภูมิ มี นรก สัตว์เดรัจฉาน
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ
- เรามักสงสารคนที่ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ เช่น คนที่ทรัพย์สินเสียหาย หรือบางคนถึงแก่ชีวิตด้วยโรคร้าย หรืออุบัติภัยต่างๆ เราเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจเมื่อเห็นเขาได้รับผลของอกุศลกรรมของเขา แต่ขณะที่เขากระทำเหตุ (กระทำความชั่ว) ทำไมเราจึงไม่เกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ เรากลับรู้สึกโกรธแค้น ชิงชัง ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว เรายังเพิ่มอกุศลให้กับตนเอง
- หลายคนคิดว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมนั้น เป็นเทคนิค หรือ วิธีการขู่ให้คนเกรงกลัวการกระทำชั่ว และคิดว่าเป็นอุบายให้คนกระทำความดี แต่เมื่อได้ศึกษาธรรมขั้นละเอียด (พระอภิธรรม) ในเรื่องของจิต การทำงานของจิต และวิถีจิตแล้ว จะทราบได้ด้วยตนเองว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ขู่ ไม่ได้คิดกลยุทธ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงให้รู้ ซึ่งความจริงอันประเสริฐนี้พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมายาวนานกว่าจะบรรลุสัจจธรรมนี้
- ไม่ว่าจะได้รับกระทบจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เป็นคนเลว คนปานกลาง หรือว่าคนชั้นสูง ถ้าเป็นผู้มีปัญญาแล้วย่อมจะอดกลั้นคำดูหมิ่นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจากใครก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะบางบุคคล แต่ต้องทั่วไปหมด เพราะเหตุว่า บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็อดกลั้นได้ แต่ถ้าเป็นคนชั้นต่ำหรือเป็นคนเลวก็อดกลั้นคำพูดของบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกบุคคลควรเป็นสิ่งที่ทำให้ขันติบารมีเจริญขึ้น
- การเจริญขึ้นของปัญญาหรือความเข้าใจพระธรรมนั้นต้องอาศัยกาลเวลา จะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาในอดีตและปัจจัยที่เหมาะสมทั้งหลาย เปรียบเสมือนการเติบโตของต้นไม้ ขอให้เราเป็นผู้ตรง เข้าใจการสะสมของตัวเองตามความเป็นจริง และ เจริญเหตุทั้งหลายให้ถึงพร้อม ผลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นเองโดยไม่ต้องหวังเลย
- บางครั้งการกระทำของเราบางอย่างเพื่อความสุขของตน แต่เมื่อเป็นผู้ละเอียดขึ้นก็ย่อมพิจารณาถึงการกระทำของตนว่ามีผลกระทบกับบุคคลรอบข้างอย่างไรบ้าง เมื่อพิจารณาดังนี้ ก็จะคิดก่อนที่จะทำและนึกถึงความสุขของคนอื่นก่อนตนเสมอว่าเขาจะทุกข์กายและใจจากการกระทำของเราหรือไม่
- ไม่ว่าเราจะทำงาน ไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ แต่ขออย่างเดียว อย่าขาดการฟังธรรมเพราะว่าพระธรรมเปรียบเหมือนเชือกที่ดึงเราขึ้นมาจากเหวลึก คือ อวิชชาค่ะ
ขออนุโมทนา