ความหมายของคำว่า กุศล

 
kanchana.c
วันที่  7 ก.ค. 2549
หมายเลข  1559
อ่าน  3,856

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์เรื่อง แนวทางเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ค่ะ

สำหรับความหมายของคำว่า “กุศล” ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ ได้แสดงความหมายของกุศลศัพท์ มีข้อความว่า

กุศลศัพท์ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็นวิบาก.

คือ ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้นเมื่อไม่มีกิเลส ก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งตนเองและกับบุคคลอื่น ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ถ้าไม่พิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นโรค โรคทางกายเห็นได้ เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่มีใครต้องการเลย แต่โรคทางใจไม่เคยเห็นแต่ถ้าทราบว่าขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นเป็นโรค เพราะฉะนั้น จิตนี้มีโรคหลายอย่างแล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคอิสสา โรคมัจฉริยะ ก็มีประเภทของโรคต่างๆ ซึ่งก็ปรากฏอาการได้ จากคำพูดหรือว่าการกระทำ

แต่สำหรับกุศลธรรมนั้น ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีโทษ นอกจากนั้นสำหรับกุศลบางประเภทก็เป็นความฉลาด และกุศลทุกประเภทมีสุขเป็นวิบาก

สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปกธรรมอันบัณฑิตเกลียด ให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือให้พินาศ. อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมใด ย่อมผูกพันโดยอาการที่บัณฑิตเกลียด สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า กุสะ ธรรม ที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่าย่อมถอนขึ้น คือย่อมตัดกุสะ กล่าวคืออกุศลเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ญาณ ชื่อว่า กุสะเพราะทำอกุศลอันบัณฑิตเกลียดให้สิ้นสุด หรือเบาบาง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า อันญาณชื่อกุสะนั้นพึงตัด คือ พึงถือเอา พึงให้เป็นไปทั่วด้วยกุสญาณนั้น.

นี่คือทุกๆ ขณะที่เป็นกุศล แม้ในขณะนี้

อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลสที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด คือ ย่อมทำลายอกุศลเหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.

ในบรรดาธรรมทั้งสามนั้น กุศลมีความไม่มีโทษและมีวิบากเป็นสุข เป็นลักษณะอกุศลมีโทษและมีทุกข์เป็นวิบากเป็นลักษณะ อัพยากตะไม่มีวิบากเป็นลักษณะ.

นี่คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 2 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornpaon
วันที่ 7 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ