กฏแห่งกรรม - ยุติธรรมเสมอ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากหนังสือ
"บุญญกิริยาวัตุถุ" โดย
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ คุณวันทนา ทิพวัลย์
สวัสดีค่ะ....ท่านผู้ฟังเคยรู้สึกไหมว่า ความพอใจ ความปรารถนา ความต้องการของท่านที่มีอยู่ในสิ่งใดก็สิ่งที่เคยนำความสุข ความพอใจมาให้แก่ท่านนั่นแหละจะเป็นสิ่งที่นำความทุกข์โทมนัสมาให้ท่านเมื่อถึงคราวที่ต้องเปลี่ยนแปลง วิบัติ และ เสื่อมสลายดัง "พุทธภาษิต" บทหนึ่ง ที่ว่า "ทุกข์ โศก และ ภัย....ย่อมเกิดจากความรักปราศจากเสียซึ่งความรัก....ทุกข์ โศก และ ภัย จะมีมาแต่ที่ใดเล่า"
แสดงว่า ความรัก ความพอใจ มีอยู่ในสิ่งใด ก็ย่อมมีความ "ยึดมั่นในสิ่งนั้น"ิปรารถนาความสุข ความเที่ยงแท้แน่นอนในสิ่งนั้น "ความยึดมั่นถือมั่น" นี่เอง ที่เป็นภัยบั่นทอนชีวิตประการหนึ่ง
เมื่อมี "ความยึดมั่น" ก็ย่อมมี "ความกลัว" ตราบใดที่ชีวิตนี้ยังเป็นที่รัก ตราบนั้น "ความรู้สึกกลัวภัย" ที่จะเกิดแก่ชีวิตของปุถุชนก็ไม่หมดสิ้นไปได้เลย ผู้รักชีวิต ย่อมกลัวภัย คือ ความยากจน ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศถูกนินทา เป็นทุกข์
พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประดุจ "ธรรมโอสถที่รักษาใจ" แม้กระทั่ง "โรคกลัวภัยต่างๆ " พระองค์ทรงแสดง "กฏของแห่งกรรม" ว่า "ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว" ซึ่งผู้ใดประพฤติปฏิบัติตาม ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะไม่เดือดร้อนใจเลย ว่า ทำดี แล้วจะไม่ได้ดี
แต่ตรงกันข้าม "เหตุ" ที่คนส่วนมากต้อง "เดือดร้อนใจ" กันทุกวันนี้ ก็เพราะว่า ตนไม่กระทำความดี แต่ปรารถนาจะได้ดี หรือ ตนได้กระทำชั่ว แล้วไม่ปรารถนาจะได้รับผลของกรรมชั่วนั้น
ในเรื่องของกรรม คือ การกระทำนั้นพระผู้มีพระภาคฯ ทรงสอนให้ "ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ" คือ "การเลี้ยงชีพชอบ" เพื่อขจัดภัย คือ ความกลัวอันเป็นผลจากการเลี้ยงชีพไม่ชอบ (มิจฉาชีพ) และ พระองค์ทรงสอนให้เจริญกุศลทุกประการ ตามความสามารถ และ อัธยาศัย ของแต่ละบุคคลด้วย
ขออนุโมทนา