บริษัทที่ไม่มีอัครบุคคล และมีอัครบุคล [ปริสวรรคที่ 5 สูตรที่ ๓]

 
Khaeota
วันที่  26 ก.พ. 2553
หมายเลข  15620
อ่าน  1,643

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๐๒ - ๔๐๔ ปริสวรรคที่ 5

สูตรที่ ๓

ว่าด้วยบริษัทที่ไม่มีอัครบุคคล และมีอัครบุคล

[๒๘๙] ๔๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทที่ไม่มีอัครบุคคล ๑ บริษัทที่มีอัครบุคคล ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ไม่มีอัครบุคคลเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุเถระเป็นคนมักมาก เป็นคนย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการก้าวไปสู่ทางต่ำ ทอดทิ้งธุระในปวิเวกไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุเพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนภายหลังต่างถือเอาภิกษุเถระเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ถึงประชุมชนนั้นก็เป็นผู้มักมาก ย่อหย่อนเป็นหัวหน้าในการก้าวไปสู่ทางต่ำ หยุดทิ้งธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทไม่มีอัครบุคคล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่มีอัครบุคคลเป็นไฉนดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุเถระเป็นคนไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดทิ้งธุระในการก้าวไปสู่ทางต่ำ เป็นหัวหน้าในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนภายหลังต่างถือเอาภิกษุเถระเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ถึงประชุมชนนั้นก็เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดทิ้งธุระในการก้าวไปสู่ทางต่ำ เป็นหัวหน้าในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบริษัทเช่นนี้ เรียกว่าบริษัทมีอัครบุคคล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่มีอัครบุคคลเป็นเลิศ. จบสูตรที่ ๓

อรรถกถาสูตรที่ ๓
ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อคฺควตี ได้แก่ มีบุคคลสูงสุด หรือประกอบด้วยการปฏิบัติอย่างเลิศคือสูงสุด. บริษัทตรงข้ามจากบริษัทที่มีคนเลิศนั้น. ชีวิตที่ไม่มีคนเลิศ. บทว่า พาหุลฺลิกา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติด้วยความมักมากด้วยปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น . บริษัทชื่อว่า สาถิลิกา เพราะอรรถว่า ถือศาสนาย่อหย่อน. นิวรณ์ ๕ เรียกว่า โอกฺกมน ในคำว่า โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา นี้ ด้วยอรรถว่า ดำเนินต่ำลง. อธิบายว่า ภิกษุเถระเหล่านั้นมุ่งหน้าด้วยทำนิวรณ์ ๕ ให้เต็ม. บทว่า ปวิเวเก นิกฺขิตฺตธุรา ความว่า เป็นผู้ทอดธุระในวิเวก ๓ อย่าง. บทว่า น วิริยํ อารภนฺติ ความว่า ไม่ทำความเพียรทั้ง ๒ อย่าง. บทว่า อปฺปตฺตสฺส ปตฺติยา ความว่า เพื่อต้องการบรรลุคุณวิเศษคือฌานวิปัสสนามรรคและผลที่คนยังไม่ได้บรรลุมาก่อน. สองบทนอกนี้ อนธิคตสฺส อธิคมาย อสจฺฉิกตสฺส สจฺฉิกิริยาย เป็นไวพจน์ของบท (อปฺปตฺตสฺส ปตฺติยา) นั้นเอง.บทว่า ปจฺฉิมา ชนตา ได้แก่ ชนผู้เป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวสิก.บทว่า ทิฏฺฐนุคตึ อาปชฺชติ ความว่า เมื่อกระทำความข้อที่อุปัชฌาย์อาจารย์กระทำแล้วชื่อว่าประพฤติตามอาจาระของท่านเหล่านั้นที่ตนเห็นแล้ว. คำที่เหลือ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว. จบอรรถกถาสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 5 ก.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 3 มิ.ย. 2566

ยินดีในกุสลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ