ควรพูดอย่างไรเพื่อให้ป่วยคลายความทุกข์

 
siwa
วันที่  28 ก.พ. 2553
หมายเลข  15634
อ่าน  42,038

มีญาติอาศัยอยู่ที่บ้านป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งหมอยุติการรักษาแล้ว ขณะนี้อาการทรุดเร็วมาก ทั้งที่อากาศปกติกลับบอกว่าอากาศร้อนตลอดเวลา เข้าใจกว่าใกล้ถึงวาระสุดท้ายแล้ว ดิฉันเปิดธรรม mp3 เสียงท่านอาจารย์ฯให้คนป่วยฟังหลายครั้ง เขาก็ไม่มีใจที่จะฟัง ทั้งที่มั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์สูงสุด แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไรให้เขาฟังแค่ผ่านหูก็ยังดี เผื่อว่าจะบรรเทาทุกข์ใจได้บ้าง กลับกลายเป็นทุกข์ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 28 ก.พ. 2553

ความเป็นไปของคนป่วยหนัก ถ้าไม่ใช่เป็นผู้มีปัญญาหรือ ไม่ได้สะสมบุญไว้มากย่อมจะเกิดทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจเป็นธรรมดา ส่วนผู้ที่มีปัญญาและผู้ที่สะสมบุญไว้มาก ทั้งมิได้ประกอบอกุศลกรรมไว้ ย่อมไม่เกิดทุกข์ทางใจ แม้จะมีทุกข์ทางกายบ้าง ดังนั้น ในชีวิตขณะที่ปกติ ถ้าไม่สะสมการฟังการเห็นประโยชน์ของพระธรรมในขณะที่ป่วยหนักจะสนใจฟังพระธรรมนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะความเจ็บปวดทางกายและจิตใจก็ศร้าหมอง และขาดศรัทธา การเห็นประโยชน์ก็ไม่มี และก่อนหน้านี้เขาก็ไม่สนใจ นอกจากจะนำเสนอเพียงเรื่องเบาๆ พื้นๆ ทั่วไป เช่น พุทธประวัติ ชาดกเป็นต้น ก็อาจจะทำให้จิตเปลี่ยนจากความกังวล ความทุกข์ได้บ้างครับ

ขอเชิญคลิกอ่านกระทู้ ...

จากสมาชิกท่านหนึ่ง ...เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น ประกอบด้วยเหตุและผล เป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อการละคลายอกุศล เป็นไปเพื่อการดับกิเลส เป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นไปเพื่อการไม่เกิดอีก บุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญา (ถึงแม้จะยังไม่เจ็บป่วยก็ตาม) ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมซึ่งมีคุณค่ามากอย่างนี้ที่สามารถนำออกจากทุกข์ได้จริง ถึงแม้ว่าจะมีผู้แนะนำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์แก่เขาอย่างไรก็ตาม เขาย่อมไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามการสะสมมาของบุคคลผู้นั้น

เพราะฉะนั้น พระธรรม จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อนเท่านั้น ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่ได้สะสมบุญมาย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม พระธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับเขา ซึ่งจะตรงกับคำที่ว่า “ธรรม ไม่ได้สาธารณะกับทุกคน” ประการที่สำคัญที่ควรจะตระหนักอยู่เสมอ คือ เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของบุคคลอื่นให้มาสนใจพระธรรม ตามที่เราปรารถนาได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่ควรทำสำหรับตนเอง คือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และเกื้อกูลบุคคลนั้นด้วยพระธรรมตามที่ตนเองเข้าใจ เท่าที่จะเกื้อกูลได้ตามกำลังปัญญาของตนเอง ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มีเมตตา มีความปรารถนาดีหวังดีทุกเมื่อ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นเมตตาแล้วจะไม่ทุกข์ แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะไม่รับฟังในคำแนะนำของเราก็ตาม (แต่ถ้ารับฟังได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา) และที่สำคัญ ขอให้ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

เมื่อเพื่อนเป็นมะเร็ง.....

ญาติผู้ใหญ่เป็นมะเร็ง รู้สึกทำใจไม่ค่อยได้

ความทุกข์....จากมะเร็ง

การมอบธรรมแด่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ขอธรรมทาน
วันที่ 28 ก.พ. 2553

ขอตอบจากประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายบ่อยนะครับ

การจะช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสดับธรรม แล้วเกิดดวงตาเห็นธรรม ไม่สามารถทำได้ง่ายเลยถ้า

1. เขามีทุกข์กายและโรคทางกายรุมเร้าอยู่มากๆ เช่น บางคนไม่สามารถ control pain ได้ดีพอ ก็จะร้องโอดโอยตลอดเวลาจนไม่สามารถจะมีสติฟังธรรมใดๆ ได้ (แต่สำหรับคนที่เคยฟังเข้าใจอยู่แล้ว อาจช่วยเตือนเขาได้ แต่คนที่ไม่เคยเข้าใจธรรมะเลย จะให้มาฟังและเข้าใจตอนนี้ ยิ่งยากเป็นเท่าทวี) เช่น บางคนมีระดับความรู้สึกตัวไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับรู้ได้มากนัก เช่น ซึมๆ ตลอดเวลาพูดจาได้แค่งึมงัมๆ เช่น บางคนหายใจลำบากอย่างมาก หอบเหนื่อยอย่างมาก ได้รับทุกข์ทรมานหนัก

ในกรณีนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายช่วยเหลือครับ หลังจากที่ช่วยลดอาการทางกายได้ดีแล้ว หลายรายก็สามารถมีสติกลับมาพูดคุยอย่างมีคุณภาพได้ ร่ำลาสั่งเสียได้ สงบจิตสงบใจลงได้มาก และการจากไปอย่างสงบก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกันครับ (ปล. บางโรคถ้าอาการหนักจริงๆ ก็ไม่สามารถลดอาการได้มากนัก เช่นผู้ป่วยตับวายระยะสุดท้ายหรือไตวายระยะสุดท้าย ก็ต้องเป็นไปตามตัวโรคครับ ดังนั้นจุดสำคัญของ palliative care คือ early care คือต้องรีบดูแลทั้งกายและใจรวมทั้งทางด้านศาสนาตั้งแต่ทราบผลวินิจฉัยเลยครับ จะดีที่สุด)

2. เขามีโรคทางใจร่วมด้วย เช่น depression (หรือว่าโรคซึมเศร้า) กรณีนี้หมายถึงที่เป็นโรคจริงๆ ไม่ใช่เศร้าเพราะใกล้ตายหรือเศร้าเพราะอาการทางกาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเศร้าเกินเหตุ เศร้าทุกเรื่อง และไม่สามารถจะใช้ธรรมะหรือแม้แต่จิตบำบัดเข้าช่วยได้ง่ายๆ (ช่วยได้บ้างแต่ต้องร่วมกับยาต้านเศร้าด้วยจะดีกว่า)

3. เขาเป็นคนที่ไม่เคยเข้าใจและเห็นความสำคัญในหลักศาสนาพุทธมาก่อน หรือบางคน anti ศาสนาด้วยซ้ำก็มี ถ้าเขาเป็นคนกลุ่มนี้ ต้องระวัง...

คนไข้หลายคนเพื่อแพทย์เปิดประเด็น spiritual health หรือด้านสุขภาพทางจิตวิญญาณและศาสนา เขาบางคนจะต่อต้านมาก และรู้สึกว่า จะมาสวดให้เขาปลงๆ แล้วตายไวๆ หรืออย่างไร ทำไม... หมดหวังแล้วหรือไง? อะไรประมาณนี้ครับ บางคนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ต้องให้พระเจ้าหรืออำนาจศักดิ์สิทธิช่วยหรือไง เขาเข้มแข็ง เขาตายด้วยความเด็ดเดี่ยวได้ ไม่ต้องง้อศาสนาหรือพลังเหนือธรรมชาติที่ไร้สาระ ไม่ต้องมาสอนเขาเลยนะ ไม่ต้องมาเปิดเทปธรรมะด้วย จะสวดให้ตายไวๆ หรือไง ฯลฯ ในกลุ่มนี้ ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะไม่เปิดประเด็นเรื่องนี้ เพราะจะทำให้เขาทุกข์ทรมานมากขึ้น จะเน้นให้เขาจากไปตามธรรมชาติด้วยอาการทางกายและทางใจที่น้อยที่สุด และอยู่กับครอบครัวด้วยความรัก จิตใจเป็นสุข บางครั้งก็แนะนำญาติให้พูดถึงเรื่องสิ่งดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน (ถ้าจะ apply มาใช้ก็สามารถทำได้นะครับ คือให้ญาติพูดคุยเรื่องดีๆ ที่เคยมีกันมา และเรื่องความดีของเขา ให้จิตเขานึกถึงทานที่เคยบริจาคแล้ว เช่นเคยช่วยสร้างสะพาน เคยศาลาเป็นกุศล เคยช่วยลูกๆ เคยให้วิทยาทานสอนลูกๆ ให้เป็นคนดี ให้เขานึกถึงสิ่งดีๆ ที่เขาทำแล้ว แม้จะไม่ต้องระบุว่าเป็นธรรมะ แต่มันก็เป็นธรรมะโดยสภาพของตัวมันเอง ก็หากเขาจากไปอย่างน้อยเขาก็ไปดีได้ครับ) หวังว่าคงได้ประโยชน์นะครับ

(ปล.. ผมคือคนๆ เดียวกับคุณ "สิ่งสมมติ" ครับ แต่เปลี่ยน log in เพราะว่าจะได้เจาะจงมากขึ้นว่าเขามาขอฟังธรรมขอธรรมเป็นทานจริงๆ )

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ขอธรรมทาน
วันที่ 28 ก.พ. 2553

อ้อลืมไป... ข้อ 4 คือพวก combind ครับ คือผสมมาเลย อาจมีทั้งข้อ 1 ร่วมกับข้อ 3 เช่น อาการทางกายก็มาก แล้วในอดีตยังเป็นคนไม่เคยรู้เรื่องศาสนาเลยแต่อย่างใด ศีล 5 ไม่เคยครบ เละตลอด อย่างนี้ก็ยากจะช่วยนะครับ ต้องกลับไปที่ช่วยข้อ 1 ก่อนจากนั้นค่อยช่วยตามข้อ 3 คือให้จิตเขามีอกุศลน้อยที่สุด หรือให้มี่พวก จาคานุสติ ได้บ้างก็ยังดี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 1 มี.ค. 2553

บอกเขาว่า "สัพพะโรโควินัสสะตุ" ครับ การกราบไหว้ผู้มีพระคุณเป็นนิจ การนอบน้อมผู้ที่เจริญ ทำให้โรคภัยหายไปครับ อายุยืนด้วย วรรณะ สุขะ พละ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 1 มี.ค. 2553

ถ้าเขาไม่สนใจฟังธรรม เราก็ช่วยอย่างอื่นก็ได้ เช่น การพูดแต่เรื่องที่ทำให้เขา สบายใจ การให้กำลังใจ การอยู่เป็นเพื่อน การจับมือ การนวดเบาๆ ให้เขาสบาย ใจและกายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 2 มี.ค. 2553

จากประโยคสุดท้าย" กลับกลายเป็นทุกข์ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วย" ถ้าเป็นเช่นที่กล่าวมา ก็ไม่มีประโยชน์เลย และยังเป็นโทษด้วย คำแนะนำตามความเห็นที่ ๗ น่าจะช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่งนะคะอย่างน้อย ผู้ที่ป่วยหนัก อาจจะรับรู้ได้ถึงความเมตตาที่คุณมีต่อเขาเพราะเกิดกุศลจิตทั้งสองฝ่าย

เข้าใจว่า ผู้ที่จะช่วยผู้อื่นได้โดยเฉพาะการช่วยเหลือให้กำลังใจผู้ที่ป่วยหนัก ทั้งกายและใจ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งพอสมควรอย่างน้อย ก็ต้องเข้มแข็งกว่าผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 2 มี.ค. 2553

หากผู้ป่วยไม่เคยศึกษาพระธรรมมาก่อน ประกอบกับการได้ัรับทุกข์ทางกายอยู่ ย่อมรับรู้และเข้าใจในพระธรรมได้ยาก บางรายอาจต่อต้านพระธรรม และเกิดความไม่พอใจผู้ดูแล

ฉะนั้นผู้ดูแลใกล้ชิดจึงมีบทบาทสำคัญที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยให้เกิดประ-โยชน์สุงสุด นั่นคือโอกาสที่จะได้มีจิตเป็นกุศล โดยการพูดคุยในเรื่องคุณความดี บุญกุศลที่เขาเคยทำ เรื่องราวดีๆ ย่อมทำจิตของเขาเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล

ในส่วนผู้ดูแลนั้นควรระลึกว่าความเจ็บป่วยและตายนั้นเป็นธรรมดา หากแต่ต้องทำหน้าที่ดูแลให้ดีที่สุด จึงไม่ควรแสดงอาการหวั่นไหว ทุกข์โศกเศร้าในขณะดูแลผู้ป่วยซึ่งจะทำให้ผู้่ป่วยเพิ่มความทุกข์ทางใจ เกิดอกุศลจิตตามได้

และสำหรับผู้ที่ได้ศึกษาธรรมแล้ว ย่อมพิจารณาว่า ไม่มีผู้ป่วย ไม่มีผู้ดูแล มีแต่เพียงสภาพธรรมกำลังเกิดดับสืบต่อ หาสาระอะไรไม่ได้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 2 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
siwa
วันที่ 2 มี.ค. 2553

พี่ชายได้จากไปแล้วในคืนวันที่ 1 มี.ค. ค่ะ โดยที่ดิฉันไม่มีโอกาสขอขมาหรือขออโหสิกรรม เช้าวันนั้นเธอปลุกดิฉัน ให้ช่วยพาเธอไปร.พ. (เป็นคำขอครั้งสุดท้าย) ดิฉันได้แต่บีบเท้าของเธอ และบอกให้พยายามหายใจเข้ายาวๆ พี่ๆ น้องๆ กำลังตามมา ให้รอนะ นี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่ทำให้พี่ชาย ระหว่างรอรถศูนย์กู้ชีพนเรนทรมารับตัวส่งร.พ. ดิฉันเพิ่งกลับมาจากงานศพ จึงเข้าเว็บมาขอบคุณทุกท่านสำหรับทุกคำแนะนำ หลังจากนี้คงต้องพึ่ง mp3 ท่านอาจารย์เป็นยารักษาใจไปจนกว่าจะนอนหลับค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 3 มี.ค. 2553

เข้าใจว่า นี่ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่คุณจะทำให้พี่ชาย...เพราะตราบเท่าที่คุณยังมีชีวิตอยู่ มีโอกาสฟังพระธรรม และเจริญกุศลอื่นๆ คุณก็ยังสามารถอุทิศกุศล แด่พี่ชายที่จากไปได้นะคะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ตะวัน
วันที่ 5 มี.ค. 2553

ถ้าไม่ชอบฟังธรรม แต่คุณsiwaเป็นผู้ที่สนใจในธรรมอยู่แล้วลองพูดธรรมะ สอดแทรกลงไปกับเรื่องปกติเลยครับ หลีกเลี่ยงศัพท์แสงที่เขาต้องมาถามคุณว่า คำไหนแปลว่าอะไร ผมมีเพื่อนที่เป็นทุกข์แต่ว่าไม่ได้ทุกข์จากการเจ็บป่วย เลยลองทำอย่างวิธีที่บอกไปข้างต้นครับ อย่างน้อยให้เขามีจิตน้อมนำไปสู่พระธรรมโดยไม่รู้ตัว เมื่อใจเกิดความสบายก็จะทำให้ใจไม่ลำบาก เมื่อเขาเกิดความคล้อยตามในเนื้อหาที่คุณสอดแทรกลงไปแล้ว ค่อยเปิดเสียงธรรมก็ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สามารถ
วันที่ 9 มี.ค. 2553

เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ เลยครับในการที่จะเปลี่ยนใจใคร (อันที่จริงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ยากยิ่งกว่าการเกลี่ยภูเขาถมทะเล)

ผมมีความเห็นว่าอย่างน้อยเราควรเป็นผู้ที่มีความเข้าใจที่ดี ที่ถูกก่อน น่าจะดีนะครับ หลังจากนั้นแแล้ว ความคิด คำพูด หรือสิ่งที่เราจะทำจะแสดงออกมาย่อมทำให้บุคคลรอบข้างสามารถเข้าใจได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

แต่หากจะหากคำกล่าวดีๆ นั้น คงไม่มีอะไรจะดียิ่งไปกว่า การกล่าวความจริง ซึ่งจะทำให้เกิดการรู้ความจริง แต่ปัญหาก็คือ มันเป็นเรื่องยาก บางคนอาจเป็นเรื่องเจ็บปวดที่จะยอมรับความจริง

แต่หากเราจะลองพิจารณาก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรมากนะครับ ผมเห็นอย่างนี้ ทุกข์กายนั้นย่อมมีอยู่ตราบใดที่ยังมีร่างกาย มีตาก็ย่อมมีโรคตา มีแขนก็ย่อมมีโรคแขนมีท้องย่อมมีโรคท้อง ไม่มีใครหนีพ้นได้เลย นี้เป็นความเสื่อมของรูป นี้เป็นความธรรมดา บุคคลคลที่ไม่รู้ความธรรมดา ย่อมทุกข์เพราะไม่รู้ เพราะยึดถือ ไม่ยอมรับในความธรรมดา แต่ทุกข์ใจนั้นสามารถหายได้ แม้เพียงชาตินี้

ลองพิจารณาเถิดครับว่า "แม้ต้นไม้ที่มีอายุกว่าพัน พันปี ยังล้มตาย มนุษย์เราแข็งแรงทนแดดทนฝนกว่าต้นไม้อย่างไร การล้มตายของมนุษย์เราที่มีอายุเพียงร้อยปี เหตุนี้ย่อมเป็นความจริงที่จะเกิดขึ้นได้" พิจารณา เห็นความจริง ยอมรับความจริง การยึดถือในสิ่งที่ไม่ควรยึดถือย่อมจะสามารถละคลายได้ ความทุกข์ย่อมสามารถบรรเทาไปได้ด้วยปัญญาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดีครับ

"นักปราชญ์กล่าวชีวิตนั่นแลเป็นของน้อย (เทปวิทยุครั้งที่ 93-94) " ผู้ดูแลเองก็พิจารณาความกังวลที่เกิดขึ้นก็จะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
คุณ
วันที่ 26 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ