พระอาจารย์สอนผิด
ขออนุญาตรบกวนสอบถามท่านวิทยากรและท่านผู้รู้ครับ
มีพระท่านหนึ่งท่านขอให้สอบถามว่า ในกรณีที่พระอาจารย์ของท่านสอนธรรมะผิด ท่านควรทำอย่างไร ในใจท่านคิดว่า ท่านควรจะทักทวงทันที เพราะการสอนที่ผิดนั้น มีผลเสียมาก การที่จะนิ่งเฉย ก็จะทำให้เข้าใจผิดไปกันใหญ่ การทำเช่นนี้ จะเหมาะสมหรือจะกลายเป็นเรื่องของศิษย์เถียงอาจารย์หรือไม่หรือจะมีวิธีการอย่างไร ที่เหมาะสมที่สุดครับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่ควรปล่อยให้ความเห็นผิดเผยแพร่ การจะทักท้วงทันทีก็ต้องดูกาลเทศะ และให้เป็นไปตามพระวินัย ถ้าอาจารย์เป็นคนมีเหตุผล รับฟังการทักท้วง ควรพูดเมื่อได้เวลาที่เหมาะสม และควรขอโอกาสจากท่านเสียก่อน เมื่อท่านอนุญาตจึงควรพูด ไม่ควรนิ่งเฉยครับ
แนะนำทักด้วยศิลปะครับ เช่น ทักในรูปแบบคำถาม (แทนที่จะกล่าวออกมาเลยว่าท่านพูดผิด) ถามว่าผมเคยฟังมาอย่างนี้ เคยอ่านมาอย่างนั้น อยากขอความเห็นของพระอาจารย์ในเรื่องนี้ขอรับ หรือ เป็นไปได้หรือไม่ครับว่ามันเป็นอย่างนี้ ถ้าท่านยังไปตามทางของท่านต่อ ก็ถ้าเป็นผมคงต้องปล่อยไปก่อนครับ แล้วค่อยหาเวลาไปสนทนากับท่านเป็นการส่วนตัวแทนครับ (พร้อมพระไตรปิฎกไปอ้างอิงครับ)
จุดสำคัญคือการ make relationship ที่ดีกับท่านนะครับ บางท่านถ้าเราทำให้ท่านโกรธ ท่านจะไม่รับเราเลยครับ จึงยากที่จะช่วยท่านและผู้ฟังธรรมจากท่านได้ ... จึงต้องใช้วาทศิลป์ วิริยะและขันติอย่างมากครับ
ถ้าพยายามทุกทางแล้ว ... ท่านที่สอนคลาดเคลื่อน ก็ยังคงสอนคลาดเคลื่อนต่อไป และมีผู้ฟังเป็นจำนวนมากที่เชื่อตามนั้น ... ยังมีวิธีอื่นที่เหมาะสมไหมคะ.? นอกจากการนิ่งเฉย.
เห็นด้วยอย่างมากค่ะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว ส่วนตัวแล้ว ไม่เคยคิดจะไปทักท้วงอาจารย์ผู้สอน หรือวิทยากรผู้ให้ปฏิบัติ เพราะคิดว่า ตัวเองยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอ คือปัญญายังน้อย แต่มีอยู่บ่อยครั้งมากที่ต้องการบอกเพื่อนฝูง ญาติมิตร ว่าในเบื้องต้นควรฟังธรรมเสียก่อน เพื่อที่จะได้รู้และเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร และทรงสอนอะไร เพียงแค่นี้ ยังพูดไม่ออกเลยค่ะ ได้แต่แนะนำว่า ให้เข้ามาในเว็บไซต์นี้ เพื่อศึกษา ทำได้เพียงแค่นี้เองค่ะ
ถ้าหากทะเลาะกันกับวิทยากร/ผู้สอน (ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพระหรือไม่ก็ตาม) แล้ว หรือทำให้ท่านไม่พอใจแล้วโกรธเราเสียแล้ว ก็จะกลายเป็นการยากยิ่งกว่าครับ และอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีนะครับเช่น เราถูกต่อว่าในที่นั้นว่าคิดอย่างนั้น มิจฉาทิฏฐิ นะครับ เช่น เขาพูดออกมาว่า "เรื่องนี้ก็คงต้องให้โยมศึกษาให้มากขึ้น รับฟังให้มากขึ้น สั่งสมปัญญาไปนะโยม จนปัญญาสามารถเข้าใจในพระธรรมได้ถูกต้อง ถ้าปัญญาของโยมยังไม่มากพอ ก็ยากที่จะเข้าใจได้"
แล้วก็จะยิ่งยากที่ใครๆ คนอื่นในลานธรรมนั้นจะฟังความคิดเห็นจากเรา แล้วก็จะยิ่งยากที่ท่านจะยอมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเราได้
ในสมัยพุทธกาล เท่าที่เคยได้ฟังมา พระท่านที่สอนผิดก็มีนะครับ ที่สอนว่าวิญญาณล่องลอย ออกจากร่างไปเกิดใหม่ เหล่าพระสงฆ์ที่ทราบเรื่องก็ได้ไปกราบทูลกับอาจารย์ใหญ่ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงได้มาแก้ไขให้ครับ (ในเรื่องไม่ได้ไปเถียงกันในลานแสดงธรรมหรือต่อหน้าประชาชนนะครับ แต่ไปรายงานองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทน) ก็ถ้าเราพยายามเองแล้วยังไม่ได้ผล ก็แนะนำว่าคงต้องใช้วิธีที่คล้ายกับในสมัยพุทธกาล คือ รายงานพระที่มีอาวุโส มีศักดิ์ มีพรรษา มีคุณวุฒิ มีความรู้ถูกต้อง และเป็นที่เคารพนับถือเหนือกว่าล่ะครับ แล้วให้ท่านไปช่วย clear แทนครับ (โดยไม่ออกนามว่าใครไปรายงาน หรือไปรายงานกันหลายๆ คนก็ได้ เพื่อป้องกันการมีปัญหากับจำเลยอีกครับ)
^_^
หลังจากท่านได้รับการช่วยชี้แนะจากพระอาจารย์ที่อาวุโสกว่า รู้ตรงกว่าแล้ว ท่านก็จะสอนใหม่เองแหละครับ ผู้ฟังธรรมที่เป็นหน้าเดิมๆ ก็จะค่อยๆ คล้อยตามและเปลี่ยนไปตามท่านเองครับ โดยไม่ทำให้ศรัทธาตกลงแต่อย่างใด ท่านเองก็ได้เรียนรู้อย่างถูกต้องด้วย
วาทะลับหลังใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น และกล่าวด้วยเมตตาจิตค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ควรคิดพิจารณาว่าเพื่อตัวเองหรือเพื่อดำรงพระสัทธรรมไว้ครับ ถ้าเพื่อตัวเองคือกลัวไม่เป็นที่รักหรือกลัวถูกตำหนิก็นิ่งซะหรือเห็นดีด้วย แต่ถ้าเพื่อธรรมก็คือควรพูดเพื่อความถูกต้องที่สำคัญ ไม่ใช่เพื่อเราแต่เพื่อรักษาพระธรรม รักษาบุคคลนั้นด้วยให้มีความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นจึงควรกล้าในสิ่งที่ควรกล้า ไม่ควรกล้าในสิ่งที่ไม่ควรกล้า ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า ถ้าเป็นการลำบากเพราะบุคคลนั้นเป็นอาจารย์ และอาจทำให้เขาโกรธได้เมื่อพูด แต่ว่าเมื่อพิจารณาแล้วว่า สามารถทำให้เขาออกจากอกุศลเป็นกุศลได้ เธอก็ควรพูด ความลำบากใจหรือการไม่เป็นที่รักเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่การทำให้บุคคลนั้นออกจากอกุศลตั้งอยู่ในกุศลสำคัญกว่า สำคัญที่ประโยชน์เพราะฉะนั้น เธอก็ควรพูด แต่ถ้าเธอห็นว่าเขาไม่สามารถออกจากอกุศลได้เพราะเป็นคนดื้อ เธอก็ไม่ควรพูดและไม่ควรละเลยความวางเฉยเสีย
สำคัญที่เราต้องรู้จักพูด รู้จักกาละ รู้จักว่าพิจารณาว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ประโยชน์ในที่นี้ คือ ไม่ใช่พูดแล้วเขาไม่โกรธ แต่ประโยชน์คือให้บุคคลนั้นเข้าใจถูกและรักษาพระสัทธรรมไว้ครับ การไม่เป็นที่รักเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ประโยชน์ของผู้อื่นสำคัญกว่า และการรักษาพระสัทธรรมก็ประเสริฐสูงสุด
แต่ควรพิจารณาตามที่กล่าวมาว่าควรพูด หรือไม่ควรพูดอย่างไร และ เมื่อพูดควรพูดอย่างไรครับ คือพูดด้วยเมตตา รู้จักกาล และ อธิบายเนื้อความตามความเป็นจริงด้วยเหตุผล โดยวิธีที่ถูกธรรมเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ธรรมสำคัญที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม
ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เพื่อธรรม ก็คือ ควรพูดเพื่อความถูกต้องที่สำคัญ ไม่ใช่เพื่อเราแต่เพื่อรักษาพระธรรม รักษาบุคคลนั้นด้วยให้มีความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นจึงควรกล้าในสิ่งที่ควรกล้า ไม่ควรกล้าในสิ่งที่ไม่ควรกล้า
ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม ครับ
หลักธรรมที่ อ. วรรณี และ อ.ผเดิม กล่าวถึงว่า การพูดนั้น ต้องประกอบไปด้วยเป็นคำจริง แท้ มีประโยชน์ ถูกกาล ด้วยเมตตา อยู่ในพระสูตรใดครับ และวาทะลับหลังมีความหมายอย่างไรครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
กล่าววาจาต่อหน้าและลับหลัง[อรณวิภังคสูตร]
เราจักไม่เปล่งวาจาที่ชั่ว เราจักมีเมตตาจิต [กกจูปมสูตร]
สำหรับวาทะลับหลัง ก็คือ การพูดเรื่องของบุคคลนั้น โดยที่บุคคลนั้นไม่อยู่ เป็นวาทะลับหลัง ที่ชาวบ้านมักใช้คำว่านินทา ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ดีครับ
ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านค่ะ
พระธรรมไม่สาธารณะค่ะ และไม่ใช่ของที่เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเป็นพระปัญญาคุณ เพราะเหตุนี้เอง เวลาได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระผู้ใหญ่ก็อาจจะมีอะไรที่คลาดเคลื่อนได้ ตามการสะสมของแต่ละคน
ถ้าตามกาละเทศะแล้ว อาจจะไม่เหมาะสมที่จะไปเตือนตรงๆ แม้จะเป็นเมตตา แต่การกล่าวธรรมให้ถูกกาละ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้จะกล่าวคำจริงและกล่าวด้วยเมตตา แต่กล่าวไม่ถูกกาละ ก็อาจทำให้ผู้ฟังเข้าใจคลาดเคลื่อน เข้าใจเจตนาผิด และเกิดมานะ (อกุศล) หนักขึ้นไปอีกเพื่อจะเอาชนะคำเตือนให้ได้ เป็นปกติที่คนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์จะยังมีมานะอยู่ ดังนั้นการที่เริ่มรู้สึกว่าผู้น้อยกว่ามาตักเตือนเรื่องที่ขัดกับความเห็นอันฝังแน่นของตน ย่อมจะเกิดความขุ่นเคืองในใจ หรืออยากเอาชนะ เพราะคิดว่าตนอยู่สูงกว่า หรือเก่งกว่า
วิธีเตือนแบบไม่ให้ท่านรู้ว่ากำลังเตือนอยู่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีค่ะ เพราะท่านมีความเป็นอาจารย์ ท่านอาจจะยังถือตนในจุดนี้ ถ้าหากเป็นพระที่เป็นอาจารย์ของท่านอีกที ท่านอาจจะยอมฟังก็ได้
แต่ถ้าเป็นลูกศิษย์ไปเตือน แล้วยิ่งเป็นอะไรที่ขัดกับความเข้าใจหรือความเห็นผิดที่ฝังแน่น ก็อาจกลายเป็นฝังแน่นมากขึ้นไปอีก เพราะต้องการเอาชนะ เอาแน่เอานอนไม่ได้เลยค่ะสำหรับปุถุชน ต้องหาวิธีที่เข้ากับอัธยาศัยของท่านนะคะ บางท่านอัธยาศัยไม่ชอบให้เตือนตรงๆ ก็มี ไม่ชอบให้เตือนต่อหน้าบุคคลที่ ๓ หรือไม่ชอบให้พูดกระทบ บางท่านชอบให้พูดตรงๆ ต่อหน้า บางท่านไม่ชอบให้ผู้น้อยมาสอนหรือตักเตือน แม้จะบอกให้ตักเตือนได้แต่พอไปเตือนกลับโกรธและเถียง ฯลฯ วิจิตรมากค่ะ
การสอนธรรมะให้ตรงกับอัธยาศัยบุคคลเป็นเรื่องยากจริงๆ และพระธรรมไม่สาธารณะจริงๆ ค่ะ
(ข้อความบางตอนจากพระสูตร) พระผู้มีพระภาคฯ ทรงสอนว่า
"บุคคล กล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด ทำให้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น เห็นปานนั้น ว่า ไม่ควรกล่าว
แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด ทำให้ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น เห็นปานนั้น ว่า ควรกล่าว"
ขออนุโมทนาค่ะ