รูปธรรม และ นามธรรม เกิดดับเร็วมาก
รูปธรรม และนามธรรม เกิดดับเร็วมาก แต่ทำไม ภูเขาใหญ่ๆ ที่เป็นรูป เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่เห็นดับเลย ครับ เวลาผ่านไปเป็นร้อยปี ก็ยังตั้งอยู่ ขอท่านผู้รู้ ช่วยชี้แจงข้อธรรมนี้ ให้ผมเข้าใจมากขึ้นด้วย ครับ
ขอกราบอนุโมทนา ในกุศลจิต ทุกท่าน
ภูเขาและแผ่นดินใหญ่นี้ ดูเสมือนเที่ยง คงทน ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความจริงกลุ่มของรูปที่รวมกันจำนวนมากที่เรียกว่า ภูเขา แผ่นดิน มีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิตเท่านั้น คือ เกิดดับสืบต่อกันตลอดเวลา เพราะสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เราจึงเห็นรูปขนาดใหญ่ เป็นก้อน เป็นแท่ง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความจริงผู้ตรัสรู้รูปตามความเป็นจริง ทรงแสดงว่า รูปจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เพียงใด มีอายุเท่ากัน คือ ๑๗ ขณะของจิต อนึ่ง ถ้าเราจะดูภูเขาหรือแผ่นดินอันกว้างใหญ่นี้ ในระยะยาว เป็นหลายสิบปี หลายร้อยปี หลายพันปี โลก ภูเขา แผ่นดิน ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่คงทนครับ
หากยังเห็นว่า เป็นภูเขา ภูเขาย่อมไม่เกิดดับ เพราะภูเขาเป็นบัญญัติซึ่งมีได้ เพราะความคิดและความจำชื่อ รวมทั้งเรื่องราวของภูเขาที่เราได้ศึกษาและรับรู้มาตั้งแต่รู้ความในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่เรียกว่าภูเขา เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มรูปธรรมที่เล็กมาก ซึ่งแต่ละรูปนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รูปแต่ละกลุ่มนั้น ก็ไม่ได้ติดกัน มีช่องว่างที่เล็กมากแทรกขั้นรูปแต่ละกลุ่มออกจากกัน ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าภูเขา ก็พร้อมที่จะแยกสลายออกจากกันอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องนี้ ผมเคยมีโอกาสได้เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ฯ ว่า รูปเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมเห็นกี่ครั้ง ก็ดูเหมือนเดิมทุกครั้ง ซึ่งท่านอาจารย์ ได้กรุณาอธิบายว่า (ข้อความเท่าที่จำได้) ที่ยังดูเหมือนเดิม เพราะปัจจัยที่ทำให้มีรูปนั้น ยังมีอยู่ ทำให้ผมนำกลับมาคิดต่อว่า หากปัจจัยที่ทำให้รูปรวมตัวกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเปลี่ยนไป สิ่งที่แม้จะดูมั่นคงแข็งแรงที่สุด ก็ย่อยยับลงไปได้ในพริบตาครับ
ถ้าไม่มีสภาพธรรมแล้ว ชื่อว่า ภูเขา ย่อมไม่มี แต่เพราะมีสภาพธรรมจึงมีการบัญญัติชื่อว่าภูเขา
ขออนุโมทนาค่ะ
เรียนความคิดเห็นที่ ๓
ภูเขาเป็นบัญญัติที่มาจากรูปที่เกิดขึ้น เพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ดังนั้น หากอุตุมีสภาพที่เปลี่ยนไป รูปที่เกิดใหม่ๆ ก็ย่อมไม่เหมือนเดิม ซึ่งทำให้เห็นว่า เป็นภูเขาที่สึกกร่อนไป หรือยุบตัวไป หรือระเบิดไป ฯลฯ ส่วนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับอุตุอันเป็นฐานที่เกิดของรูปเหล่านั้นครับ ว่าเปลี่ยนไปจากเดิมมากหรือน้อย และช้าหรือเร็วเพียงใดครับ ขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมว่าข้อความทั้งหมดทั้งในความคิดเห็นที่ ๒ และความคิดเห็นนี้ ล้วนเป็นเพียงเรื่องราวของปรมัตถธรรม (ที่ทำให้มีภูเขา) เท่านั้นครับ ซึ่งมีความละเอียดอย่างยิ่ง โดยศึกษาได้จากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ อย่างไรก็ดี การศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ภูเขา หรือวัตถุใดๆ ก็ตาม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ก็ไม่พ้นจากการพิจารณาสีที่ปรากฎทางตา (หากเป็นสิ่งที่เห็นได้) เสียงที่ปรากฎทางหู (หากมีเสียง) กลิ่นที่ปรากฎทางจมูก (หากมีกลิ่น) รสที่ปรากฎทางลิ้น (หากชิมได้) สัมผัสที่ปรากฎกับกาย (หากจับต้องหรือสัมผัสได้) และการคิดนึกถึงอารมณ์เหล่านั้นทางใจตามที่ได้สะสมมา ซึ่งการรับรู้โลกที่ปรากฎทางทวารต่างๆ ก็มีสภาพที่เกิดดับสลับกันอยู่ตลอดเวลาเช่นกันครับ
ขออภัยคุณ K ที่นำข้อความของท่านมาอ้างอิง แบบไม่เหมาะสม
ขอบพระคุณทั้งพี่เมตตาและคุณ K ....ที่กรุณาเตือนสติ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรมที่เกิดดับ ย่อมไม่พ้นไปจากนามธรรม (จิต และ เจตสิก) และรูปธรรม ทั้งนามธรรมและรูปธรรมดังกล่าวนั้น ล้วนไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน (สังขารแม้อย่างหนึ่งที่ชื่อว่าเที่ยง ย่อมไม่มีเลย) จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และรู้อารมณ์อย่างเดียวกัน มีอายุที่สั้นมาก เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเท่านั้น ส่วนรูปธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ เมื่อเทียบกับนามธรรมแล้ว รูปธรรมเกิดดับช้ากว่านามธรรม แต่ถึงอย่างนั้น ก็สั้นแสนสั้น และไม่ยั่งยืนเลยจริงๆ สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
จากคำถามที่ว่า รูปธรรม และนามธรรม เกิดดับเร็วมาก แต่ทำไม ภูเขา ใหญ่ๆ ที่เป็นรูป เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่เห็นดับเลย เวลาผ่านไปเป็นร้อยปี ก็ยังตั้งอยู่ ต้องรู้ก่อนครับว่า การเกิดดับของรูปธรรมและนามธรรมนั้นเห็นด้วยอะไร ที่เรากล่าวว่า รูปเกิดดับแต่ภูเขาซึ่งเป็นการประชุมของรูปประการต่างๆ รูปนั้นก็เกิดดับ ทำไมไม่เห็นการเกิดดับ ความรู้พื้นฐานก่อนครับ ขณะที่เห็น เห็นอะไร จิตเห็นเห็นอะไร ก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฎทางตาหรือสีนั่นเองครับ จะเห็นเสียงก็ไมได้ เห็นกลิ่นก็ไมได้ เห็นความนึกคิดก็ไมได้ เห็นเรื่องราว บัญญัติก็ไม่ได้ เห็นภูเขาก็ไม่ได้ครับ เพราะเป็นบัญญัติ ไม่ใช่สี เพราะฉะนั้น จิตเห็น เห็นสีเท่านั้น ดังนั้นที่กล่าวว่า ทำไมไม่เห็นภูเขาเกิดดับ เห็นไม่ได้แน่นอนครับ เพราะ จิตเห็น เห็นสีเท่านั้น ครับ
การเห็นการเกิดดับของรูปกลาปจริงๆ นั้นจะต้องเป็นการเห็นด้วยปัญญาที่เป็นระดับวิปัสสนาญาน ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูง แต่ไม่ใช่เห็นการเกิดดับด้วยจิตเห็น แต่ที่เราเห็นบางอย่างแตกไป หรือเสื่อมหรือสึกไปเราก็คิดว่าเห็นการเกิดดับ นั่นเป็นการเกิดดับของรูปตามที่ได้ศึกษามา แต่ไม่ได้เห็นจริงๆ แต่เป็นการทรงจำเอาไว้จากการศึกษาว่าเมื่อรูปเกิดดับ สิ่งนั้นก็ต้องเสื่อมไป เป็นต้นครับ ดังนั้นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมจึงเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่สามารถรู้ทางตาแต่รู้ทางใจคือปัญญาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาในทุกกุศลจิต ของทุกท่านที่ช่วยกัน สนทนาธรรม เพื่อ เจริญปัญญา ให้รู้และเข้าใจถูกต้องในธรรรมะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคับ
เรียน อ. เผดิม ความเห็นที่ ๘ ที่อาจารย์กล่าวว่า
การเกิดดับของรูปกลาปนั้นปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่มีปัญญาไม่อาจรู้ได้เลย เพียงแต่ (ดูด้วยจิตแล้ว) คิดเอาเท่านั้นเอง แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ว่าสามารถแยกธาตุจนละเอียด เป็นนิวเคลียสและเห็นว่าเคลื่อนตัวตลอดเวลาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้น ก็ยังเป็นการเห็นด้วยจิตแล้วคิดเอาเองอีกเหมือนกัน แต่คิดละเอียดมากขึ้นกว่าปกติหน่อยหนึ่ง ใช่ไหมครับเพราะมีการนำเรื่องนี้มาเขียนหนังสืออธิบายเป็นการเกิดดับตามความหมายทางพุทธศาสนา ซึ่งผมยังสงสัยว่า ใช้อธิบายได้ตรงหรือครับ
เรียนความเห็นที่ 11
การเห็นมี 2 อย่างครับ คือเห็นด้วยตาเนื้อ กับเห็นด้วยปัญญา อย่างที่กล่าวไว้ในความเห็นข้างต้นครับ จิตเห็น ขณะที่เห็น เห็นสีเท่านั้น ไม่ได้เห็นการเกิดดับ ขณะที่คิดเรื่องการเกิดดับ ไมได้เห็นการเกิดดับของตัวปรมัตถ์ เพราะขณะนั้นมีเรื่องราวหรือบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะคิดเรื่องของการเกิดดับ ไม่ใช่ประจักษ์ลักษณะของการเกิดดับ นักวิทยาศาสตร์แยกธาตุต่างๆ แล้วอะไรที่จริงที่เขารู้ สมมติเรื่องราวทั้งนั้นครับเป็นนิวเคลียสเป็นโปรตรอน อิเล็คตรอน...ประมาณนั้น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ไม่ได้เข้าใจแม้แต่คำว่าธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นหากไม่ได้รู้ตัวธรรม ไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมและการเกิดดับด้วยปัญญาแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะรู้ด้วยการนึกเอาในเรื่องราวในสิ่งที่เห็น ได้ยินได้เลย เพราะฉะนั้นการนำเรื่องราวที่ตรึกนึกคิด ที่ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่การประจักษ์ความจริง (อวิชชา) มาอธิบายสิ่งที่แท้จริงที่เป็นปัญญาที่เป็นพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย คนตาบอดจะมาบอกคนตาดีว่าคนตาดีมีลักษณะอย่างไรไม่ได้ครับ แต่คนตาดีสามารถบอกอธิบายลักษณะของคนตาบอดได้ครับ
คำตอบของ อ.เผดิม ทำให้ผมเข้าใจถูกขึ้นมากเลยครับ ทำให้ต้องมีความละเอียดและระมัดระวัง เมื่อได้ฟังได้อ่านการอธิบายธรรมะของผู้อื่น โดยเฉพาะท่านที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (มากๆ) ทั้งหลาย
ขอบพระคุณอาจารย์และขออนุโมทนาครับ