พระพุทธศาสนากับการปกครองระบอบประชาธิปไตย.
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากับการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยมีความสอดคล้องและเกื้อกูลกันหรือไม่ อย่างไรคะ
การปกครองสงฆ์ ตามพระพุทธบัญญัติ (พระวินัย) ในสมัยพุทธกาลเช่น การทำความเคารพกันตามอาวุโส ตัวอย่างเช่น บรรพชิตผู้อ่อนพรรษา ถึงแม้จะมีคุณธรรมสูงกว่า ก็ต้องเคารพบรรพชิตผู้เป็นปุถุชน ซึ่งมีพรรษามากกว่า (เช่น พระนวกะไหว้พระเถระ) หรือในกรณีที่พระอรหันต์ผู้เป็นอาคันตุกะ ท่านไหว้บรรพชิตเจ้าอาวาสผู้เป็นปุถุชน เป็นต้นข้อวัตรปฏิบัติเช่นนี้ เป็น "ประชาธิปไตย" หรือไม่ อย่างไรคะ
โดยส่วนตัว เข้าใจว่า ประชาธิปไตย หมายถึง เสียงส่วนใหญ่จากผู้ที่อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งอายุ เพศ วัย ฐานะ สถานภาพ (แต่ไม่ผิดกาละเทศะ) โดยมีจุดประสงค์ คือ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อความเป็นอยู่อย่างผาสุกของส่วนรวม อันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความเคารพ
ปล. ถ้าหากความเข้าใจเช่นนี้ยังไม่ถูกต้องประการใด ต้องขออภัยและขอความกรุณาท่านที่เข้าใจคำว่า "ประชาธิปไตย" อย่างถูกต้องกรุณาแนะนำ-แก้ไข เพื่อความเข้าใจถูกด้วยค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับความคิดเห็นค่ะ
ขอเพิ่มเติมในส่วนของพระวินัย ในเรื่องการทำกรรมของคณะสงฆ์ คือ ทรงแนะนำพระสาวกให้เคารพที่ประชุม เคารพมติที่ประชุม เมื่อที่ประชุมปรึกษากันด้วยเรื่องใด ที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน ก็เป็นมติที่ประชุม ถ้ากรรมที่ที่ประชุมนั้นกระทำถูกต้องเป็นธรรม จะไปพูดคัดค้านภายหลังไม่ได้ เพราะมติส่วนใหญ่เห็นชอบแล้วครับ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอย่างไรเวลาเกิดเหตุ อสามัคคี ขึ้นบ้างครับ เท่าที่ได้ยินมาเคยมีครั้งหนึ่งที่ท่านห้ามศึกระหว่างสองเมืองได้ และเหมือนจะมีอีกครั้งที่พระสงฆ์แตกแยกกัน แต่จำไม่ได้ชัดเจน อยากทราบว่า พระสูตรใดบ้างที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยเตือนสติผู้แตกแยกกันทั้งสองฝั่ง ได้บ้างครับ พระสูตรใดเกี่ยวกับความสามัคคี หรือมีพระพุทธภาษิตใดบ้างหรือไม่ครับ
ขอบคุณครับ
เรียนความเห็นที่ ๒
ขอเชิญคลิกอ่านที่..
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอย่างไรเวลาเกิดเหตุ อสามัคคี ขึ้นบ้างครับ
จากความเห็นที่ ๑
กรรมที่ที่ประชุมนั้นกระทำถูกต้องเป็นธรรม กรุณาขยายความประโยคนี้ด้วยค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เรียนความเห็นที่ ๔
กรรมที่คณะสงฆ์กระทำร่วมกัน เรียกว่า สังฆกรรม เช่น การอุปสมบท การแต่งตั้งพระภิกษุในหน้าที่ต่างๆ เป็นต้น ถ้าทำถูกต้องตามพระวินัย และตามธรรมะ ชื่อว่า กรรมเป็นธรรมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้าพเจ้าขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในเรื่องของประชาธิปไตยกับพระพุทธศาสนา ประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองประเทศระบอบหนึ่ง ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยถือหลักเกณฑ์เสียงข้างมากเป็นหลักในการบริหารงาน แต่ไม่ได้หมายความว่า เสียงข้างมากคือ เสียงที่ถูกต้องโดยถูกหลักจริยธรรมหรือเป็นกุศลธรรม เพราะเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งในการปกครองแบบนี้ สิทธิของประชาชนฝ่ายข้างน้อยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งความเห็นฝ่ายข้างมากนั้น จะต้องเป็นความเห็นที่มีเหตุผล และเป็นธรรมเป็นกุศลด้วยจึงจะเป็นการปกครองที่ดีและมีประสิทธิภาพ
เมื่อพูดในพระธรรมแล้ว สัจจะความจริงที่เป็นกุศลธรรม ความถูกต้องจึงไม่ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย กุศลก็ต้องเป็นกุศล อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล การฆ่าสัตว์ มีการฆ่ายุง เป็นต้น สังคมส่วนมากจะกล่าวว่าดี เพราะเป็นพาหะนำโรค แต่การฆ่าก็คือ ต้องเป็นอกุศล จะดีไม่ได้เลย ระบบการปกครองที่ดีจึงต้องตั้งอยู่ในพื้นฐานคือคุณธรรม หรือกุศลธรรมเป็นหลัก เมื่อตั้งอยู่ในกุศลธรรม ไม่ได้ตั้งอยู่ด้วยอกุศลธรรม ที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ก็จะเป็นการปกครองด้วยธรรม ปกครองด้วยคุณธรรม ผลที่ได้ก็คือ เป็นไปเพื่อความสงบสุข ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น
เมื่อการปกครองตั้งอยู่บนหลักที่สำคัญคือคุณธรรมคือกุศลธรรมแล้ว ผู้ที่อยู่ร่วมในสังคม ดังเช่น ภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ท่านยึดถือพระธรรม กุศลธรรมเป็นหลักสำคัญ มติของที่ประชุมก็มาจากผู้ที่มีคุณธรรม หรือยึดหลักธรรมเป็นสำคัญ มตินั้นที่เป็นเสียงข้างมากย่อมเป็นไปโดยธรรมคือเป็นไปในความถูกต้องที่เป็นไปกุศล ไม่ใช่เพื่อได้ แต่เพื่อละ และเพื่อความสงบสุขของสังคม ทั้งสังคมของพระภิกษุและสังคมของคฤหัสถ์ที่อาศัยผู้มีคุณธรรม ปกครองโดยธรรม
ดังนั้นเมื่อพูดโดยหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ถูก สิ่งที่เป็นธรรมไม่ได้หมายถึงคนส่วนมากเห็นอย่างนั้น สิ่งนั้นจะถูกต้อง สภาพธรรมที่เป็นกุศลไม่เปลี่ยนไปตามโลกสมมติ สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมก็ไม่ได้เปลี่ยนไปตามโลกสมมติแต่ต้องพิจารณาโดยธรรม โดยกุศลธรรม ประชาธิปไตยในสมัยพุทธกาลสำหรับภิกษุสงฆ์แล้วจึงเป็นเสียงข้างมากโดยยึดหลักคุณธรรม ความถูกต้องเป็นสำคัญ ไม่ได้ยึดสิ่งอื่น ตัวบุคคลอื่น การปกครองที่ดีจึงต้องพิจาณาให้ความสำคัญที่กุศลธรรม ความถูกต้องอันเกิดจากการพิจารณาด้วยปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริง
ขออนุโมทนาครับ อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
คณะสงฆ์ มีพระวินัยเป็นธรรมอันเป็นข้อยุติ อันมิสามารถโต้แย้งได้เพราะเป็นพระพุทธพจน์ ซึ่งเป็น "กรรมอันเป็นธรรม" บัญญัติโดยพระผู้มีพระภาคฯ หลังจากทรงปรินิพพานใหม่ๆ และ สมัยต่อๆ มาเข้าใจว่า มีการแก้ปัญหาเมื่อมีเหตุอันควร ด้วยการ "สังคายนา" ในสมัยที่ "สังคายนาโดยพระอรหันต์" ย่อมไม่มีปัญหาเพราะท่านเหล่านั้น "ปราศจากกิเลส" แม้ในสมัยหนึ่ง จะมีการแบ่งออกป็นพุทธศาสนานิกายต่างๆ ก็ตามแต่ "ธรรมก็ต้องเป็นธรรม" ไม่ว่าจะปกครองแบบใด อย่างที่ได้ทราบ จากการศึกษาพระธรรม แต่ในฐานะปุถุชน ผู้เต็มไปด้วยอคติ ควรจะพิจารณาอย่างไรถึงจะอยู่ได้โดยไม่เกิด "อกุศลวิตก" มากจนเกินไป เพราะในฐานะที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ยังต้องเกี่ยวข้องและหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือว่า "ต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง" ทุกยุค ทุกสมัย
เรียนความเห็นที่ 10 ครับ
สำหรับการพิจาณาไม่ให้เกิดอกุศลวิตกเลยคงไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ก็เป็นธรรมดาครับ ในเมื่อถึงยุคเสื่อมของพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะมนุษย์มีกิเลสมาก เกิดกิเลสได้บ่อยมาก เพราะปัญญาสะสมมาน้อยเมื่อเทียบกับสมัยพุทธกาล ดังเช่นพุทธทำนาย พระสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าจะเกิดเหตุการณ์ในอนาคตว่า ในอนาคตจะมีเหตุการณ์ที่มีการปกครองโดยไม่เป็นธรรม ผู้คนก็จะถืออำนาจวาสนามากกว่าคุณธรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของความเจริญและความเสื่อม การพิจารณาที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องของปัญญา เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมดา เป็นธรรมทั้งหมด ก็แค่นึกคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมายอยู่ในโลกของความคิด แล้วอะไรที่จริงในขณะนี้ และที่สำคัญทำให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แม้กุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นครับ การเห็นตามความเป็นจริงไม่ว่าในเรื่องใด จึงเป็นเรื่องของปัญญาเท่านั้นครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณอย่างสูง และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
"มติของที่ประชุมก็มาจากผู้ที่มีคุณธรรม หรือยึดหลักธรรมเป็นสำคัญ มตินั้นที่เป็นเสียงข้างมากย่อมเป็นไปโดยธรรมคือเป็นไปในความถูกต้องที่เป็นไปกุศล" ในฐานะปุถุชน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า มติของที่ประชุมมาจากผู้มีคุณธรรมคะ
ขออนุโมทนาค่ะ
เรียนความเห็นที่ 16
ในฐานะปุถุชน การจะรู้ว่าใครเป็นคนมีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรมก็ดูจากความเห็นที่แสดงออกมาว่าเป็นไปในฝ่ายกุศล ฝ่ายดีหรือไม่ หากเป็นไปในฝ่ายดี เช่นการไม่เบียดเบียน การไม่ทำร้าย การไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น นั่นเป็นความเห็นที่ดี ความเห็นที่ดี มาจากจิตที่ดี มาจากคนที่มีคุณธรรม แต่ถ้าเป็นความเห็นที่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน ทำร้าย หรือผิดศีล 5 เป็นต้น ย่อมเป็นความเห็นที่ไม่ดี เพราะเป็นอกุศล ความเห็นที่ไม่ดีจึงมาจากจิตที่ไม่ดีจึงไม่ใช่คนที่มีคุณธรรม คนที่มีคุณธรรมจึงยึดหลักความถูกต้องคือกุศลธรรมเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดอย่างอื่นเป็นหลักครับ โดยสรุปแล้วคนนั้นต้องมีปัญญา อาศัยเวลาจึงจะรู้จักบุคคลนั้นได้จริงๆ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาค่ะ
ได้อ่านแต่ละข้อความนะเวลานี้แล้วสบายใจมากเลย